รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเร่งคุมเข้มโรคอาหารเป็นพิษ หลังพบตลอดปี 2552 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคนี้ 96,383 ราย เสียชีวิต 5 ราย เหตุมาจากกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะเมนูสุกๆดิบๆจากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ยอดฮิต ตั้งเป้าลดผู้ป่วยลงทุกจังหวัดให้ได้ปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ให้เข้มใน 36 จังหวัดเสี่ยง  โดยเฉพาะช่วงภัยแล้งและสงกรานต์นี้ ขอให้ประชาชนยึดค่านิยม กินอาหารปรุงสุก ร้อน สะอาด 

          วันนี้ (8 เมษายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเรื่องการรณรงค์ลดโรคอาหารเป็นพิษ ว่า ขณะนี้โรคอาหารเป็นพิษยังเป็นปัญหาคุกคามสุขภาพประชาชน ถึงแม้ว่าโรคนี้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมาก ปีละประมาณ 1 แสนราย ตลอดปี 2552 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 96,383 ราย เสียชีวิต 5 ราย ในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม มีผู้ป่วย 22,521 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ช่วงเดียวกันในปี 2552 มีผู้ป่วย 31,152 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายให้โรคนี้ เป็นตัวชี้วัดการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ทุกจังหวัดลดจำนวนผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษให้ได้อย่างน้อยปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะ 36 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงและมีอัตราป่วยเกิน 200 คนต่อประชากรทุก 1 แสนคน   หรือเป็นจังหวัดที่เคยมีการระบาดเป็นหมู่มาก่อน เช่นในโรงเรียน ชุมชน 

                                   

          ทั้งนี้ 36 จังหวัดดังกล่าว ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ลพบุรี สระบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ตราด นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อุทัยธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ระนอง ชุมพร สงขลา และสตูล
 
          การควบคุมโรคดังกล่าว เน้น 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การให้ความรู้และปรับพฤติกรรมประชาชน โดยกรมควบคุมโรคได้ผลิตสื่อต่างๆ ทั้งแผ่นพับ ใบปลิว โปสเตอร์ ให้ทุกจังหวัดนำไปรณรงค์ป้องกันโรคในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ 2.ส่งเสริมให้ร้านอาหาร โรงอาหารในโรงเรียน โรงงาน สถานที่สาธารณะ ห้างสรรพสินค้า เป็นร้านอาหารที่สะอาด ถูกหลักอนามัย รวมทั้งผู้ปรุงอาหารต้องมีสุขภาพดี และดูแลความสะอาดตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่เป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น 3.เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้น และเฝ้าระวังตรวจสอบการปนเปื้อนในอาหารและน้ำ รวมทั้งสารก่อพิษจากพืชหรือสัตว์ เช่นเห็ดพิษ เมล็ดสบู่ดำ คางคก ปลาปักเป้า มะกล่ำตาหนู และอาการกระป๋องที่หมดอายุหรือที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน 4.สนับสนุนวัสดุทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและปรับปรุงคุณภาพของน้ำและอาหาร เช่นชุดตรวจการปนเปื้อนเชื้อโรคภาคสนามหรือเทสคิทส์ (Test Kits) คลอรีนชนิดเม็ดและน้ำ
                                 
 
          สำหรับในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วันที่ 5-9 เมษายน 2553 เป็นสัปดาห์ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษพร้อมกันทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ “เริงร่า รับร้อน ต้องกินสุก ร้อน สะอาด ปราศจากโรคอาหารเป็นพิษ”   โดยในส่วนกลางจะรณรงค์ในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2553 ที่กระทรวงสาธารณสุข  สถานีรถไฟหัวลำโพง สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คาดว่าจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้และตระหนักโรคนี้ดียิ่งขึ้น  
                                                                                                                    
        ทั้งนี้ โรคอาหารเป็นพิษ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหารและน้ำ มีหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากที่สุดกว่าร้อยละ 95 เกิดมาจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน จะมีอาการหลังรับประทานอาหารประมาณ 4-6 ชั่วโมง โดยมีอาการเด่นคือ คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาหารที่เป็นสาเหตุอันดับ 1 ได้แก่ อาหารสุกๆดิบๆ ประเภทเนื้อสัตว์ เช่นลาบหลู้ รองลงมาคืออาหารค้างมื้อปรุงมานานกว่า 4 ชั่วโมง อันดับ 3 คืออาหารทะเลดองเค็มดิบ เช่น หอยดอง กั้ง กุ้งแช่น้ำปลา รวมทั้งอาหารทะเลที่ปรุงสุกๆดิบๆ เช่น หอยแครงลวก อันดับ 4 ได้แก่สารพิษจากพืชเช่นเห็ดพิษ สบู่ดำ
                                  
  
          ในการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ สามารถปฏิบัติได้ ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด  โดยเลือกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ อาหารที่ค้างมื้อต้องอุ่นให้เดือดก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค หลีกเลี่ยงกินอาหารสุกๆดิบๆ ให้ความสำคัญในการปรุงอาหารให้สะอาดทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ มีด เขียง ผู้ปรุงอาหร วัตถุดิบในการปรุงอาหาร ในการเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปต้องดูวันหมดอายุทุกครั้ง และเก็บรักษาอาหารให้ถูกต้อง

****************************** 8 เมษายน 2553



   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ