กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคเด็ก บ่อยครั้งมีความจำเป็นต้องให้ยาฉีดทางหลอดเลือดดำร่วมกันหลายชนิด แต่มียาฉีดบางชนิดไม่สามารถให้ทางหลอดเลือดดำพร้อมกันได้เนื่องจากความไม่เข้ากันของยา ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลความเข้ากันได้ก่อนการให้ยา จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ได้มีการจัดทำแผนผังความเข้ากันได้ของยาฉีด เมื่อบริหารยาผ่านข้อต่อรูปตัว
Y ในรูปแบบแผ่นกระดาน (QSNICH
IV Drug Y-Site Compatibility Charts)  แม้ว่าแผ่นกระดานนี้ได้ช่วยแพทย์พยาบาลบริหารยาฉีดได้ดีขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัด คือ ตรวจสอบความเข้ากันของยาได้ครั้งละ 1 คู่ หากผู้ป่วยต้องได้รับยาฉีด 3 ชนิดขึ้นไปพร้อมกันจะเกิดความไม่สะดวก ทำให้เสียเวลาอันมีค่าของผู้ป่วยวิกฤต  ในต่างประเทศมีแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบข้อมูลการเข้ากันได้ของยาฉีด แต่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้งานและอาจจะไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยเด็กไทยได้

นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาชินี กล่าวต่อว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โดยกลุ่มงานเภสัชกรรม ได้สร้างแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบความเข้ากันได้ของยาจำเพาะสำหรับผู้ป่วยเด็ก โดยได้รวบรวมข้อมูลรายการยา รูปแบบ ขนาดความแรง และความเข้มข้นของยาตามที่มีการใช้งานจริงในหอผู้ป่วยเด็ก แอปพลิเคชันนี้ได้ออกแบบให้สามารถใช้ได้กับทั้งระบบ iOS กับ Android โดยได้รับความอนุเคราะห์งบประมาณจากมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ของสถาบันสุขภาพเด็กฯ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้งานโดย
ไม่มีค่าใช้จ่าย ออกแบบให้สามารถตรวจสอบข้อมูลการเข้ากันของยาฉีดได้สะดวกและรวดเร็ว เหมาะสมกับการใช้งานจริงบนหอผู้ป่วย นอกจากนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น จึงได้เพิ่มเติมในส่วนของการสืบค้นขนาดยาสำหรับเด็ก ที่นอกจากขนาดยาแล้ว ยังประกอบด้วยรูปแบบความแรง วิธีการใช้ยาสำหรับเด็กที่เกิดจากการผสานข้อมูลจากแหล่งสืบค้นและประสบการณ์การใช้ยาในเด็กตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของสถาบันสุขภาพเด็กฯ  จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชัน “
Ped Dose & Y-site checker” ขึ้น

เภสัชกรหญิงกมลวรรณ พ่อค้า เภสัชกรชำนาญการ กล่าวเพิ่มเติมว่า แอปพลิเคชัน“Ped Dose & Y-site checker” ได้เริ่มให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรในสถาบันสุขภาพเด็กฯ ใช้งานนั้น พบว่าผลตอบรับดีมาก เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะ สะดวก ลดระยะเวลาในการหาข้อมูลยาและความเข้ากันได้ของยาฉีด ช่วยให้ผู้ป่วยเด็กได้รับยาอย่างถูกต้องไม่ผิดพลาดและทันท่วงที  หลังจากนั้นได้นำเข้าใช้งานจริงในกลุ่มแอปพลิเคชันทางการแพทย์ พบว่าในระยะเวลา 6  เดือนตั้งแต่ กรกฎาคม 2567 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ใช้งาน 15,630 ครั้ง  จาก 177 ประเทศ คะแนนความพึงพอใจ 4.9/5 ได้รับการแนะนำในกลุ่มออนไลน์ของบุคลากรทางการแพทย์ การที่เข้าถึงได้ทั่วไปนี้ส่งผลต่อการใช้งานและความปลอดภัยของผู้ป่วยในวงกว้าง

*************************************

#กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี #แอปพลิเคชันตรวจสอบความเข้ากันได้ของคู่ยาฉีดทางหลอดเลือดดำและขนาดยาในเด็ก

     – ขอขอบคุณ –

 6 กุมภาพันธ์ 2568

 

 

 

 

 

 

 

 

 



   


View 18    08/02/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์