กระทรวงสาธารณสุข อบรมให้ความรู้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 4 จังหวัดชายแดนใต้ราว 30,000 คน เป็นกำลังสำคัญช่วยดูแลสุขภาพประชาชนในยามเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เน้นให้ยึดหลักสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมร่วมมือกับท้องถิ่น โรงเรียนแพทย์ วิทยาลัยพยาบาล เร่งผลิตพยาบาลคนท้องถิ่นให้นราธิวาส ยะลา ปัตตานี จังหวัดละ 1,000 คน ภายในปี 2554
วันนี้ (25 มกราคม 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องสุขภาพ แก่ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขจากหมู่บ้านต่างๆ ของจังหวัดนราธิวาส จำนวน 300 คน ที่ห้องประชุมร้านอาหารริมน้ำ อ.เมือง จ.นราธิวาส ขณะนี้อบรมไปแล้ว 3,000 กว่าคน และจะดำเนินการให้ครบทั้งจังหวัดจำนวนกว่า 6,000 คน เพื่อให้เป็นแกนนำดูแลสุขภาพสมาชิกในครัวเรือนและชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนางานสาธารณสุขในพื้นที่ ในสภาวะที่กำลังประสบปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เช่น การตรวจหามะเร็งเต้านม การป้องกันมะเร็งปากมดลูก การเยียวยาทางจิตใจ การดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยม อสม. ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ไม่สงบ และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุไหงโกลก 2 ราย คือนายมะรูดิง สือนิ อายุ 50 ปี อยู่ที่ ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ และนางสาวแก่นนรา ศรีน้อย อายุ 34 ปี อยู่ที่ ต.โต๊ะเต็ง อ.สุไหงปาดี เพื่อให้กำลังใจและมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นด้วย
นายแพทย์มงคล กล่าวว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ต่อเนื่องกันมาเกือบ 3 ปี ส่งผลให้ประชาชนที่ประสบปัญหาทางสุขภาพสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อยู่แล้ว ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปให้บริการได้ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุก ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้อัตราตายของหญิงหลังคลอดในพื้นที่ดังกล่าว สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบ 2 เท่าตัว อัตราการเกิดต่อพันประชากรยังสูงถึง 19 ขณะที่อัตราเกิดของประเทศอยู่ที่ 13 นอกจากนี้ยังพบปัญหาภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ 19 ขณะของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 10
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า ในการพัฒนาสุขภาพประชาชนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผน 2 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน จะจัดอบรมเพิ่มขีดความสามารถ อสม. ของ 4 จังหวัดชายแดนใต้รวมเกือบ 30,000 คน มีความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น สามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแลไม่ถึง ส่วนระยะยาวจะเพิ่มกำลังพยาบาลวิชาชีพอีก 1 เท่าตัวของที่มีในปัจจุบัน โดยร่วมมือกับท้องถิ่น โรงเรียนแพทย์ วิทยาลัยพยาบาล รับคนในพื้นที่โดยตรงเข้าเรียน โควต้าจังหวัดละ 1,000 คน รวมทั้งหมด 3,000 คน ภายในปี 2554 เพื่อลดอัตราการขาดแคลนพยาบาลของ 3 จังหวัดภาคใต้
อย่างไรก็ดี ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้เรื้อรังติดต่อกันมานาน ทั้งบุคลากร งบประมาณ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะทุ่มงบประมาณมาดูแล แต่ปัญหาสุขภาพของประชาชนยังมีอยู่ โรคที่พบส่วนใหญ่เป็นโรคจากพฤติกรรมสุขภาพ สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ ร่วมกับ อสม. ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ อย่าให้ปัญหาความไม่ปลอดภัยมาบั่นทอนการทำงาน โดยให้คำนึงถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง และยึดวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก เพื่อหาทุกวิธีการที่จะเข้าถึงประชาชนและให้บริการให้ดีที่สุด ไมให้ประชาชนถูกทอดทิ้ง นายแพทย์มงคลกล่าว
มกราคม 6/7 ************25 มกราคม 2550
View 14
25/01/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ