โฆษก สธ. เผย "น้ำท่วมใต้" รพ.กลับมาเปิดบริการปกติทุกแห่งแล้ว ย้ำหน่วยบริการ 4 จังหวัดเฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง
- สำนักสารนิเทศ
- 232 View
- อ่านต่อ
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยมี "น้ำท่วม" ภาคใต้เพิ่มที่ "สตูล" รวมเป็น 6 จังหวัด ผู้เสียชีวิตสะสม 11 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 94 แห่ง รพ.ชุมชนต้องปิดบริการ 4 แห่ง ได้ย้ายผู้ป่วยและจุดบริการ พร้อมส่งทีมแพทย์ 632 ทีม ดูแลประชาชนรวม 10,315 ราย กลุ่มเปราะบาง 1,064 ราย ยังไม่พบสัญญาณการระบาดของโรคที่มากับน้ำท่วม กำชับทุกจังหวัดเฝ้าระวังต่อเนื่อง *** ดูแลผู้ป่วยตั้งครรภ์และฟอกไตตามข้อสั่งการ ศปช. ***
วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่างภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 36/2567 ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้เพิ่มขึ้นเป็น 6 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย จากการจมน้ำ รวมเสียชีวิต 11 ราย ได้แก่ ปัตตานี 3 ราย และนครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส สงขลา จังหวัดละ 2 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 94 แห่ง ได้แก่ สงขลา 32 แห่ง ปัตตานี 23 แห่ง ยะลา 16 แห่ง และนราธิวาส 23 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง รพ.สต. 42 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 3 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารรณสุข 35 แห่ง ภาพรวมสามารถเปิดให้บริการตามปกติ 12 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 8 แห่ง และปิดบริการ 74 แห่ง จำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ได้แก่ รพ.ยะหริ่ง ย้ายบริการไปที่หน่วยปฐมภูมิยามู และย้ายผู้ป่วยไปที่ รพ.ปัตตานี 3 ราย รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี 5 ราย และ รพ.ยะรัง 4 ราย, รพ.หนองจิก ย้ายผู้ป่วย 20 รายไปที่ รพ.ปัตตานี, รพ.ทุ่งยางแดง เปิด รพ.สนาม ที่บ้านตลาดนัดฆอมิส ย้ายผู้ป่วยไปที่ รพ.ปัตตานี 1 ราย และรพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี 4 ราย และ รพ.แม่ลาน ย้ายผู้ป่วยไป รพ.โคกโพธิ์ 6 ราย และ รพ.ปัตตานี 2 ราย
นพ.ศักดากล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลช่วยเหลือประชาชน มีการจัดตั้งศูนย์พักพิง 196 แห่ง ในจังหวัดยะลา นราธิวาส สงขลา และปัตตานี รองรับประชาชนได้ 30,000 ราย มีผู้เข้าพัก 11,317 ราย จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ทั้งทีมสอบสวนโรค ทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม ทีมการแพทย์ฉุกเฉิน และอื่นๆ รวม 632 ทีม ให้บริการประชาชนรวม 10,315 ราย แบ่งเป็น ตรวจรักษา 706 ราย ให้สุขศึกษา 5,588 ราย เยี่ยมบ้าน 4,010 ราย ส่งต่อ 11 ราย ให้บริการด้านสุขภาพจิต 2,906 ราย พบอยู่ในภาวะปกติทั้งหมด กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลแล้ว 1,064 ราย เป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 331 ราย ผู้พิการ 84 ราย ตั้งครรภ์ 47 ราย ผู้สูงอายุ 382 ราย และอื่นๆ (จิตเวช/ฟอกไต ฯลฯ) 220 ราย โรคที่พบมากสุด 3 อันดับ คือ น้ำกัดเท้า ระบบทางเดินหายใจ และระบบผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน ส่วนการเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วง ยังไม่พบสัญญาณการเกิดโรค นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเวชภัณฑ์เป็นยารักษาน้ำกัดเท้า 2,680 หลอด และยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 5,650 ชุด ให้กับประชาชนด้วย
"ได้กำชับให้ทุกจังหวัดยังติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบจากฝนตกหนัก *** รวมถึงเน้นย้ำการดูแลผู้ป่วยตั้งครรภ์และผู้ป่วยฟอกไต ตามข้อสั่งการของที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) *** โดย สงขลา ให้ติดตามระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำและระดับน้ำท่วมในพื้นที่ พบว่า อ.สะบ้าย้อย นาทวี สะเดา มีแนวโน้มลดลง แต่ยังอยู่ในระดับวิกฤต ขณะที่ อ.เทพา จะนะ หาดใหญ่ สิงหนคร และระโนด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลยังหนุน คาดว่า 1-2 วันการระบายน้ำน่าจะดีขึ้น ส่วนที่ปัตตานี มีการเตรียมความพร้อมกรณีสถานบริการสาธารณสุขไม่สามารถเปิดให้บริการได้ โดย รพ.ปัตตานี สำรองเตียงไว้รองรับ 50 เตียง รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี 50 เตียง และ รพ.ยะรัง 20-30 เตียง" นพ.ศักดากล่าว
**************************************30 พฤศจิกายน 2567