กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แสดงความห่วงใยประชาชนที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ เร่งส่งเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมแนะนำให้ประชาชนป้องกันโรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วมและดูแลตนเองอย่างถูกวิธี 

      

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ในขณะนี้ สร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนและความเสียหายต่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างมากนั้น จึงสั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเร่งช่วยเหลือ แก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูอย่างเร็วที่สุด และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติงานภาคสนามรวมถึงทุกหน่วยงานในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 อย่างไรก็ตามโรคผิวหนังยังเป็นโรคลำดับต้นๆ ที่อาจจะเกิดกับผู้ประสบอุทกภัย กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง จึงเร่งสนับสนุนเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนัง จำนวน 5,200 ชุด ผ่านโรงพยาบาลในเครือข่ายกรมการแพทย์ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ปัตตานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์ สงขลา เพื่อดำเนินการกระจายยาดังกล่าวให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย และให้ได้รับการช่วยเหลือและได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ กรมการแพทย์ยังเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตยาเพื่อทยอยสนับสนุนยารักษาโรคผิวหนังให้เพียงพอและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร็วที่สุด

 

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และเจ้าหน้าที่สถาบันโรคผิวหนัง เร่งดำเนินการส่งเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนังในผู้ประสบอุทกภัยแล้ว พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันโรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วมและดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่าง ๆ ที่จะตามมาได้ โดยโรคที่พบได้บ่อย คือ โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งมีแนวทางในการป้องกันคือ 1) หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องสัมผัสน้ำให้ใส่รองเท้าบูท 2) เมื่อขึ้นจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำสะอาด 3) เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ 4) ควรทาครีมบำรุงผิว 5) ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อย คัน ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์ 6) หากมีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว หรือมีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนองซึ่งเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้นควรพบแพทย์ นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวัง ในกรณีที่เท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่องหรือนิ้วเท้าเกย หรือชิดกันมากทำให้อาจติดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาวได้ ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา ถ้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน เป็นต้น และควรระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจเกิดบาดแผลซึ่งจะเป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ การทำความสะอาดเท้า ง่ามเท้าทุกครั้งหลังลุยน้ำด้วยสบู่และน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคผิวหนังดังกล่าวได้ 

 

#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคผิวหนัง #มอบยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย #ช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้

-ขอขอบคุณ-

       30 พฤศจิกายน 2567



   


View 23    30/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์