รพ.เมตตาฯ (วัดไร่ขิง) โดยจักษุแพทย์เผยโรค Vogt-Koyanagi-Harada Disease  (VKH) มีผลต่อดวงตาทําให้เกิดการอักเสบในม่านตา ทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดตา เห็นจุดดำลอยไปมาทั้งสองตา และอาจมีอาการหูอื้อร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งป็นโรคที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อหลายระบบของร่างกาย สามารถรักษาได้ถ้าตรวจพบเร็ว ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

นายแพทย์ไพโรจน์  สุรัชวานิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การดูแลสุขภาพทางตามีความสำคัญมากในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับประชาชน ปัญหาเรื่องมลภาวะต่างๆที่มีผลกระทบต่อดวงตา และโรคทางดวงตาก็มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติกับดวงตา ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

นายแพทย์อาคม  ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า โรค Vogt-Koyanagi-Harada Disease (VKH) เป็นโรคที่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอาการกับร่างกายหลายระบบ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

นายแพทย์นพคุณ  ปัญญายิ่งยง หัวหน้าหน่วยจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรค Vogt Koyanagi Harada Disease เป็นโรคตาอักเสบชนิดรุนแรง พบบ่อยในบุคคลช่วงอายุวัยทำงาน โดยโรคนี้พบอันดับต้นๆ ของโรคตาอักเสบชนิดเรื้อรังในไทย โรคนี้เป็น        กลุ่มอาการที่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดเจน คาดว่าเกิดจากการที่ร่างกายต่อต้านเนื้อเยื่อตัวเองโดยจำเพาะกับเซลล์ที่มีเม็ดสี(melanin) ซึ่งพบ  อยู่ในชั้นผิวหนัง เส้นผม และเนื้อเยื่อของลูกตา เป็นต้น การดำเนินของโรคแบ่งเป็น 4 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 เกิดในช่วงสองถึงสามวันแรก ผู้ป่วยจะ    มีอาการ ปวดตึงศีรษะ ตาพร่ามัวเล็กน้อย สู้แสงไม่ได้ เห็นจุดดำลอยไปมาทั้งสองตา มีหูอื้อทั้งสองข้างร่วมด้วยจากนั้นจะเข้าสู่ระยะต่อไป ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงของทั้งลูกตา ตาแดง ปวดและมัวลงอย่างมากของตาทั้งสองข้าง ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเข้าสู่ระยะที่สาม ระยะที่ 3 เป็นระยะที่การอักเสบจะลดลง การมองเห็นเริ่มจะดีขึ้นได้เอง หากรับการรักษาทันผู้ป่วยจะหายเป็นปกติได้ โดยไม่เข้าสู่ระยะที่ 4 ระยะที่ 4 เป็นการอักเสบระยะเรื้อรัง มีการทำลายของเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆที่มีเม็ดสีเป็นส่วนประกอบ โดยจะเกิดด่างขาวตามร่างกาย ผมร่วง ขนตา ด่างขาว และเกิดตาอักเสบแบบเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดภาวะ แทรกซ้อนต่างๆตามมา วิธีการรักษาควรรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีอาการด้วยยาลดการอักเสบสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการดำเนินโรคไปสู่ระยะเรื้อรัง หากรับรักษาอย่างต่อเนื่อง สามารถมีการมองเห็นกลับมาเป็นปกติและหายจากตัวโรคได้ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก ตาอักเสบเรื้อรัง ซึ่งหากรับการรักษาไม่สม่ำเสมออาจนำไปสู่ ภาวะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

 

***************************************************************************

#รพ.เมตตาฯ (วัดไร่ขิง) #โรค VKH  #ภูมิคุ้มกัน การอักเสบ #ตาพร่ามัว ตาไม่สู้แสง ตาอักเสบ  #ภาวะแทรกซ้อน

-ขอขอบคุณ-

4 พฤศจิกายน 2567

 



   


View 297    04/11/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์