กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม มีประเทศเข้าร่วมจำนวน 13 ประเทศ เพื่อหารือเรื่องการดูแลเด็กระหว่างวันและ สร้างความเข้าใจในการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำผ่านสถานดูแลเด็ก  ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง พร้อมนำทีมลงพื้นที่ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ณ จังหวัดเชียงใหม่

          วันที่ (21 ตุลาคม 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจาก 13 ประเทศ และได้กล่าวว่า การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ปี 2564 พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำปีละ 300,250 คน มากกว่าร้อยละ 50 เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราการจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-14 ปี และจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) เมื่อปี 2564 และสมัชชาอนามัยโลก (WHA) เมื่อปี 2566 ได้มีมติเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกและหน่วยงานต่างๆ เร่งดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ

          สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับสถาบันเรือชูชีพแห่งชาติ ประเทศอังกฤษ (Royal National Lifeboat Institution: RNLI) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับโลกเรื่องการดูแลเด็กระหว่างวันเพื่อป้องกันการจมน้ำ (Global Workshop on Child Day-Care and Drowning Prevention) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำผ่านสถานดูแลเด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และสร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้สถานดูแลเด็กระหว่างวัน ในการดำเนินมาตรการป้องกันการจมน้ำ รวมถึงกำหนดกลไกความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในอนาคต และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การดำเนินงานป้องกันการจมน้ำของประเทศไทยกับประเทศต่างๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย และเครือข่ายภาคเอกชน/NGO จาก 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย  บังกลาเทศ  ภูฏาน  กัมพูชา  อินเดีย  เมียนมา  เวียดนาม  เนปาล  แอฟริกาใต้  สวิตเซอร์แลนด์  อังกฤษ  สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย รวม 29 คน โดยในการประชุมฯ เน้นการระดมสมองเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และมีการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงาน (Field Visit) ป้องกันการจมน้ำของประเทศไทย ณ ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นำโดยทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ด้วย

          นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ย 3,651 คน หรือวันละกว่า 10 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยปีละ 669 คน หรือวันละ 2 คน กรมควบคุมโรค จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ และจิตอาสา ดำเนินการป้องกันเด็กจมน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยใช้หลากหลายมาตรการร่วมกัน ส่งผลให้สามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กได้ถึง ร้อยละ 57 (จากปี 2548 เสียชีวิตปีละ 1,500 คน ในปี พ.ศ. 2565 เหลือ 666 คน)

          อย่างไรก็ตาม อัตราการจมน้ำเสียชีวิตยังคงสูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยภายในปี 2580 ต้องลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็ก ให้ไม่เกินปีละ 290 คน หรือ 2.5 ต่อประชากรเด็กแสนคน ประเทศไทยได้พัฒนากลยุทธ์ผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำ หรือ MERIT MAKER มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยนำมาใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของชุมชน หัวใจสำคัญคือความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ร่วมกัน จนทำให้ WHO ให้การชื่นชมและให้ประเทศต่างๆ มาศึกษาดูงาน  การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ขอขอบคุณเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน และขอขอบคุณทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการสนับสนุนการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว

********************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 22 ตุลาคม 2567



   
   


View 98    22/10/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ