โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หรือปอดบวมทั่วประเทศ ยังไม่พบรายใดเป็นโรคไข้หวัดนก ส่วนผลตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการ ชายวัย 43 ปีที่บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยาผลเป็นลบ โดยย้ำเตือนประชาชนทุกพื้นที่ หากมีสัตว์ปีกกำลังป่วย หงอยเซื่องซึมหรือตายแล้ว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ห้ามนำมาขายอย่างเด็ดขาด เพราะอาจแพร่เชื้อไข้หวัดนกมาสู่คนได้ง่าย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกว่า ขณะนี้นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคไข้หวัดนกไม่ให้ติดต่อมาสู่คนอย่างต่อเนื่อง โดยที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรีได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการโรคไข้หวัดนกทางหมายเลขโทรศัพท์ 02-590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้บริการตอบข้อคำถามโรคไข้หวัดนกแก่ประชาชน ในการป้องกันตนเอง ต่อวันมีประชาชนโทรสอบถามเฉลี่ยวันละ 40-50 สาย ส่วนใหญ่มักจะถามเรื่องมาตรการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดนก ส่วนผลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน ตั้งแต่วันที่ 1-20 มกราคม 2550 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หรือเป็นไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวมที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสะสม 111 ราย จาก 31 จังหวัด โดยเฉพาะวันที่ 20 มกราคม 2550 ได้รับรายงานรวม 19 ราย จาก 9 จังหวัด ดังนี้ ลพบุรี 6 ราย สุพรรณบุรี 4 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 3 ราย ส่วนอีก 6 ราย จากกาญจนบุรี ปราจีนบุรี พิจิตร นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และสตูลจังหวัดละ 1 ราย ยังไม่พบรายใดป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก สำหรับผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการของชายวัย 43 ปี คนเลี้ยงเป็ดที่หมู่ที่ 4 ต.ทับน้ำ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีอาการป่วย มีไข้หลังจากฝังทำลายเป็ด 93 ตัวที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ และอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลบางปะหัน ในห้องแยกปลอดเชื้อ โดยนายแพทย์ไพรจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แจ้งผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเมื่อบ่ายวันนี้ว่าผลเป็นลบ โดยอาการของผู้ป่วยขณะนี้ไม่มีไข้แล้ว ไม่ไอ และได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.ในพื้นที่ เฝ้าระวังผู้ที่มีอาการไข้ ไอ รายอื่นจากหมู่ที่ 4 ต.ทับน้ำอย่างใกล้ชิด เป็นเวลา 10 วัน นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามหลักการสำคัญที่สุดที่จะทำให้โรคไข้หวัดนกไม่ติดต่อสู่คน ประชาชนต้องช่วยกันป้องกัน หากมีสัตว์ปีกป่วยหรือตายแม้จะเพียง 1 ตัว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยเร็ว และห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติมาขายอย่างเด็ดขาด เพราะจะเป็นการแพร่เชื้อติดต่อสู่คนได้ง่ายขึ้น โดยหากมีสัตว์ปีกป่วย มีอาการหงอยเหงา ขอให้นึกถึงว่าเป็นไข้หวัดนกไว้ก่อน เพื่อความไม่ประมาท ทั้งนี้เมื่อสัตว์ปีกติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เชื้อไวรัสนี้จะออกมากับสารคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย โดยเฉพาะในมูลของสัตว์ปีก ซึ่งจากการศึกษาของคณะสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าเชื้อไข้หวัดนกสามารถอยู่ในมูลไก่สดในอุณหภูมิระหว่าง 23-25 องศาเซลเซียส หรือในที่ร่มที่ไม่โดนแสงแดดโดยตรงได้นานประมาณ 4 วัน แต่เชื้อจะมีชีวิตอยู่กลางแสงแดดที่อุณหภูมิระหว่าง 32-35 องศาเซลเซียสได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง


   
   


View 14    21/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ