สธ.เผย "เชียงใหม่" น้ำท่วมคลี่คลาย รพ.ทุกแห่งให้บริการได้ปกติ สั่งเฝ้าระวัง 3 โรคหลังน้ำลด
- สำนักสารนิเทศ
- 0 View
- อ่านต่อ
สธ.กำชับ 9 จังหวัดเสี่ยงเฝ้าระวังฝนสะสม-ดินโคลนถล่มช่วงสุดสัปดาห์นี้ เผย ปชช.เครียดสูง 589 ราย
ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 ติดตามสถานการณ์ "น้ำท่วม" พบลดเหลือ 13 จังหวัด รพ.สต.รับผลกระทบเพิ่ม 1 แห่งในอุดรธานี ยังเปิดบริการได้ตามปกติ ประชาชนเครียดสูง 589 ราย ส่งแพทย์ดูแลต่อ 148 ราย แจกยาบาทาพิทักษ์แล้ว 6,600 กระปุก กำชับ 9 จังหวัดเสี่ยงฝนสะสมสูง ดินโคลนถล่มช่วงสุดสัปดาห์นี้เฝ้าระวังสถานการณ์ เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
วันนี้ (20 กันยายน 2567) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวภายหลังประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 4/2567 ว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม - 20 กันยายน 2567 สถานการณ์ลดลงเหลือ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร พระนครศรีอยุธยา นครนายก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี ภูเก็ต สตูล และตรัง มีประชาชนได้รับผลกระทบ 63 อำเภอ รวม 9,949 ครัวเรือน เสียชีวิตสะสม 47 ราย บาดเจ็บ 816 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง คือ รพ.สต.ในจังหวัดอุดรธานี รวมเป็น 67 แห่ง แต่ทั้งหมดยังเปิดบริการได้ตามปกติ จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 2,287 ทีม ดูแลประชาชนรวม 134,864 ราย ได้แก่ เยี่ยมบ้าน 34,308 ราย ให้สุขศึกษา 47,247 ราย ตรวจรักษา 43,646 ราย ส่งต่อ 180 ราย และมอบชุดดูแลสิ่งแวดล้อม 9,483 ราย นอกจากนี้ ยังให้บริการด้านสุขภาพจิต 26,318 ราย พบมีภาวะเครียดสูง 589 ราย ต้องส่งพบแพทย์ 148 ราย ให้การดูแลกลุ่มเปราะบางรวม 20,443 ราย
นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่า 9 จังหวัดที่เสี่ยงฝนสะสมสูงและเสี่ยงต่อดินโคลนถล่มวันที่ 20-22 กันยายน 2567 ได้แก่ อุบลราชธานี พิษณุโลก ตราด สุรินทร์ เลย นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร และอุตรดิตถ์ ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ประเมินความเสี่ยงของสถานบริการ เตรียมแผนการอพยพเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางไปที่ปลอดภัย สำรวจและติดตามปริมาณยาและเวชภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมยังเพียงพอ มีการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ช่วยผู้ประสบภัยแล้ว 134,861 ชุด ส่งยาสมุนไพรรวม 45,984 ชุด ได้แก่ ยาน้ำกัดเท้า 25,484 ขวด ยานวด 700 ขวด ยากันยุง 9,750 ขวด ยาสมุนไพร 7 รายการ 3,250 ชุด ยาเบญจชื่นจิต 200 กระปุก และยาน้ำกัดเท้าบาทาพิทักษ์ 6,600 กระปุก
ส่วนที่ประชุมวันนี้มีการติดตามสถานการณ์ใน จ.อุบลราชธานี พบว่า มีอำเภอเสี่ยงจากแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง 5 อำเภอ 40 หมู่บ้าน คือ เขมราฐ นาตาล โพธิ์ไทร ศรีเมืองใหม่ และโขงเจียม ได้วางระบบและมาตรการรองรับแล้ว โดยจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบกและทางอากาศ พร้อมช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่อยู่ติดริมน้ำโขงจำนวน 2,393 ราย นอกจากนี้ ยังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต และตรัง ซึ่งทั้งหมดมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงและเตรียมความพร้อมทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ สำรองยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงสื่อสารความเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนเช่นกัน
************************************* 20 กันยายน 2567