กรม สบส. ร่วมแสดงศักยภาพสาธารณสุขไทยในเวทีนิทรรศการระดับโลก World Expo 2025
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 0 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค ห่วงใยสุขภาพประชาชน ในพื้นที่น้ำท่วม แนะวิธีดูแลตนเอง ป้องกันการเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่, โรคปอดบวม) กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ (โรคอาหารเป็นพิษ, โรคอุจจาระร่วง) กลุ่มโรคติดเชื้อ (โรคไข้ฉี่หนู, น้ำกัดเท้า, โรคตาแดง) กลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง (โรคไข้เลือดออก) รวมถึงภัยสุขภาพที่ไม่ควรประมาท ได้แก่ การจมน้ำ ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต แมลงสัตว์มีพิษกัดต่อย ที่มักเกิดช่วงน้ำท่วม
วันนี้ (1 สิงหาคม 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด บันทึกข้อมูลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน หรือแผนอพยพ เมื่อเกิดเหตุจะได้พร้อมรับมือ และลดอันตรายจากอุทกภัย และขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล หมั่นล้างมือ รับประทานอาหารสุกร้อน สะอาด และใหม่อยู่เสมอ โดยโรคที่มากับน้ำท่วม แบ่งเป็น 4 กลุ่มโรคใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังดังนี้ 1. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม 2. กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง 3. กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โรคไข้ฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง และ 4. กลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือ แมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อต และการจมน้ำ
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคที่มากับน้ำท่วม สามารถป้องกันและดูแลตัวเองได้ ดังนี้ 1. ไม่ทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงแหล่งน้ำที่ท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง 2. อย่าปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน และอาจรับเชื้อจากน้ำที่มีสิ่งสกปรก ทำให้ป่วยด้วยโรคตาแดง หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัด ต่อยได้ 3. ล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง และหลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด เพราะอาจติดเชื้อโรคจากหนูและสัตว์นำโรคอื่น ๆ 5. หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าลุยน้ำ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือนำถุงพลาสติกที่สะอาด มาสวมเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ 6. ป้องกันยุงกัด เช่น ทาโลชั่นกันยุง หรือนอนในมุ้ง 7. รักษาสุขอนามัยเบื้องต้น ล้างมือบ่อย ๆ หากอยู่ในที่แออัด หรือมีอาการป่วย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ 8. ทำความสะอาดบริเวณบ้านให้โล่ง และตรวจสอบบริเวณมุมอับของบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ 9. หากถูกสัตว์มีพิษกัดให้จดจำลักษณะสัตว์ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด จำกัดบริเวณที่ถูกกัด ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*********************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองป้องกันการบาดเจ็บ/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 1 สิงหาคม 2567