สาธารณสุข เผย ผลสำรวจการขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย ใน 26 จังหวัด ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 มีผู้ทำผิด พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยขายในปั้มน้ำมันและสวนสาธารณะ ร้อยละ 8 และขายในเวลาห้ามขายอีกร้อยละ 10 เหตุผลที่ทำผิดร้อยละ 23 อ้างไม่ทราบกฎหมาย ส่วนอีกร้อยละ 77 ทราบกฎหมาย แต่ยังขายเพราะอยากได้เงิน และกลัวเสียลูกค้าประจำ
นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 1-12 และสำนักโรคไม่ติดต่อ สำรวจการขายสุราในสถานที่ห้ามคือปั้มน้ำมัน สวนสาธารณะ และเวลาห้ามขายคือ หลังเวลา 14.00-17.00น. และหลัง 24.00-11.00 น. ใน วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่มีการเลี้ยงฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยสำรวจ ใน 26 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ขอนแก่น เลย อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำพูน นครศรีธรรมราชและสงขลา
ผลสำรวจ พบว่า มีการจำหน่ายในปั้มน้ำมัน 88 แห่ง จากสำรวจทั้งหมด 1,080 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8 จำหน่ายในสวนสาธารณะ 10 แห่งจากสำรวจทั้งหมด 124 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8 โดยลดลงจากในช่วงเดียวกันร้อยละ 13 ส่วนเวลาห้ามขาย พบมีการทำผิด 158 แห่ง จาก1,640 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10 มากกว่าเทศกาลปีใหม่ 2552 ร้อยละ 7 โดยร้อยละ 23 อ้างว่าไม่ทราบกฎหมาย แต่อีกร้อยละ 77 บอกว่าทราบ แต่อยากมีรายได้ร้อยละ 32 และกลัวเสียลูกค้าประจำร้อยละ 24 ที่เหลือบอกว่าไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังร้อยละ 17 อีกร้อยละ 14 ให้เหตุผลว่าไม่ได้ตั้งโชว์ให้เห็นแต่สามารถขอซื้อได้ตลอด และคิดว่าห้ามเฉพาะขายเหล้าแต่ขายเบียร์ได้
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่า จะพบผู้ทำผิดขายเหล้า บริเวณปั้มน้ำมันน้อยลง แต่พบว่าบริเวณข้างๆ ปั้มจะมีการตั้งร้านค้าเล็กๆ ที่ขายเหล้า และมีร้านค้าอยู่ข้างถนนตั้งเป็นระยะ น่าจะมีการขายเหล้าให้ผู้สัญจรไปมาเนื่องจาก มีตู้แช่เย็น มีกล่องเบียร์และเหล้าวางอยู่ข้างๆ ทำให้ขายได้ไม่จำกัดเวลาตามกฎหมาย ทั้งนี้ กรณีการตรวจจับร้านค้าในปั้มน้ำมัน 5 แห่ง ที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท สำหรับโทษจำคุก เนื่องจากเป็นความผิดครั้งแรก ให้รอลงอาญา 2 ปี สำหรับทุกร้าน
นายแพทย์สมาน กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขจะนำเสนอผลการสำรวจนี้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อพิจารณาออกมาตรการควบคุมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมาย ในการออกตรวจจับผู้ที่กระทำผิด พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อในวงกว้างเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง และดำเนินการอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังควรมีการทบทวนการออกใบอนุญาตหรือต่อใบอนุญาตผู้ขายเหล้า รวมทั้งเพิ่มโทษผู้กระทำผิด ซึ่งโทษขณะนี้ คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
*********************************** 4 มกราคม 2553
View 8
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ