กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอกฎหมายคุมเหล้าเพิ่มเติม เพื่อใช้ควบคู่กับมาตรการรณรงค์ป้องกันและการรักษาพยาบาล  หวังลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรให้ได้  โดยเข้มมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาด ทั้งจำและปรับ          

เช้าวันนี้ (20 เมษายน 2552) นายมานิต  นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการวิเคราะห์สถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ 10-16 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา พบว่าแม้หลายหน่วยงานจะมีการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บไม่ได้ลดลงมากนัก ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 361 คนในปี 2551 เป็น 373 คน โดยสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นเรื่อง การเมาสุรา แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มาตรการรณรงค์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นออกมาใช้ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การลดปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลต่างๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

           นายมานิต กล่าวต่อว่า นอกจากการรณรงค์ให้ความรู้และความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลแล้ว เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลอื่นที่จะตามมา กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมออกกฎหมายลูกเพิ่มเติม เพื่อควบคุมการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงให้มีการให้สินบนรางวัลกับผู้ให้เบาะแสและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ด้วย นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มงวดดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะกรณี การเมาสุรา เสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหรือยาเสพติดให้โทษ ขณะขับรถ ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยจะทำการจับและปรับจริง ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป

 

          กรณีฝ่าฝืนกฎหมายห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา สถานศึกษา ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะและสถานที่ราชการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การฝ่าฝืนขายให้บุคคลอายุต่ำหว่า 20 ปี หรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีฝ่าฝืนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีการเร่ขาย การลด-แลก-แจก-แถมต่างๆ และการขายพ่วง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการฝ่าฝืนเรื่องการโฆษณาที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม (ชักจูงให้ซื้อ) รวมทั้งการโฆษณาที่มีการปรากฏภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบรรจุภัณฑ์ หรือการโฆษณาที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารและความรู้สร้างสรรค์สังคม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           ขณะนี้กำลังเร่งให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ยอดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา การบังคับใช้ตามกฎหมายที่มีอยู่ เป็นต้น สรุปเสนอคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ ออกมาตรการเพิ่มเติมที่เหมาะสม และประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกัน เพื่อให้ทันใช้ในเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงต่อไป นายมานิตกล่าว

 

***************20 เมษายน 2552



   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ