รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจโรงงานทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่ระบุว่าเป็นสถานที่ผลิตปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอย ผลการตรวจสอบไม่พบมีการผลิต แต่มีอาหารบรรจุกระป๋องที่ยังไม่ติดฉลากจำนวนกว่า 2 ล้านกระป๋องอยู่โกดังบริษัท แจ้งความดำเนินคดี 3 ข้อหา 1.ผลิตอาหารปลอม มีฉลากลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิด 2.ผลิตอาหารผิดมาตรฐาน 3.ผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 -100,000 บาท พร้อมสั่งการทุกจังหวัดเก็บปลากระป๋องในเครือบริษัทนี้อีก 15 ยี่ห้อ ลงจากชั้นวางชั่วคราว จนกว่าผลการตรวจสอบจะออก เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน บ่ายวันนี้ (29 มกราคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เดินทางไปตรวจสอบบริษัททองกิ่งแก้วฟู๊ดส์ จำกัด และโกดังเก็บสินค้า เลขที่ 17/1 หมู่ 5 ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่ระบุว่าเป็นสถานที่ผลิตปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอย ที่นำไปบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดพัทลุง เมื่อ 12 ธันวาคม 2551 และมีปัญหากลิ่นเหม็นเน่า เนื้อปลาเละ เมื่อลองชิม เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน นายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เก็บปลากระป๋องบริจาคออกจากหมู่บ้านที่ได้รับบริจาคทั้งหมดแล้ว และให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศเก็บปลากระป๋องยี่ห้อดังกล่าวและที่ผลิตในล็อตเดียวกันคือ เลขที่สารบบอาหาร 74-07040-1-0050 ล็อตการผลิต TSE 77 ผลิตวันที่ 24 ธันวาคม 2551 หมดอายุวันที่ 24 ธันวาคม 2554 ออกจากท้องตลาดทั้งหมดด้วย เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยผลการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 ไม่พบจุลินทรีย์ แต่มีกลิ่นเหม็น สภาพเนื้อปลาและน้ำซอสมีสีซีดกว่าปกติ และเนื้อปลาค่อนข้างยุ่ย ซึ่งขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เก็บปลากระป๋องอีกส่วนหนึ่งไว้ รอดูสภาพกระป๋องว่ามีแก๊สภายในที่เกิดจากการเน่าเสีย ซึ่งจะทำให้กระป๋องมีการบวมบุบบู้บี้หรือไม่ เป็นเวลา 14 วัน คาดจะทราบผลในสัปดาห์หน้า สำหรับผลการตรวจสอบสถานที่ผลิตปลากระป๋องชาวดอย คือ บริษัททองกิ่งแก้วฟู๊ดส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 17/1 หมู่ 5 ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พบผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้ให้การว่าโรงงานแห่งนี้หยุดผลิตอาหารเพื่อปรับปรุงให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ตั้งแต่สิงหาคม 2551 ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่ปรากฏบนกระป๋องที่ระบุว่า ผลิต 24 ธันวาคม 2551 และได้สาวถึงสถานที่ผลิตอาหารที่มีนายทนง ทองกิ่งแก้ว เป็นผู้ประกอบการอีก 2 แห่ง คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทย เอ.ดีฟู้ด เทรดดิ้ง เลขที่ 219 หมู่ 14 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย และที่จังหวัดจันทบุรีเลขที่ 50 หมู่ 5 ต.ตกพรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี ผลการตรวจสอบไม่พบการผลิตปลากระป๋อง มีแต่ผลไม้บรรจุกระป๋อง และจากการเข้าไปตรวจสอบที่โกดังเก็บของของบริษัท พบว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุกระป๋องที่ยังไม่ติดฉลากจำนวน 2,373,062 กระป๋อง ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เงาะในน้ำเชื่อม ข้าวโพด เห็ดแชมปิญอง เป็นต้น ไม่พบปลากระป๋อง ได้อายัดสินค้าไว้ทั้งหมดแล้ว จากผลการตรวจสอบทั้งสถานที่ผลิตและโกดังเก็บของ สันนิษฐานว่าปลากระป๋องดังกล่าวน่าจะมีการผลิตมาจากสถานที่อื่น ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และการผลิตอาหารตามมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ผลิต ทั้งหมด 3 ข้อหา คือ 1.ทำการผลิตอาหารปลอม และมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิด ตามมาตรา 27(4) ฝ่าฝืนมาตรา 25(2) มีโทษตามมาตรา 59 คือจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท 2.ข้อหาผลิตอาหารผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 28 ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) โทษตามมาตรา 60 คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท และ 3.ข้อหาเกี่ยวกับอาหารบรรจุกระป๋องอื่นๆ ที่ยังไม่ติดฉลากและมีการเก็บรักษาไว้ในโกดัง ถือว่าเข้าข่ายผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 14 มีโทษตามมาตรา 53 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ เนื่องจากกระบวนการผลิตอาหาร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการติดฉลากอาหาร จะต้องดำเนินการภายในโรงงานที่ได้ตามมาตรฐาน ที่ขออนุญาตกับอย.ไว้เท่านั้น การผลิตอาหารอีกที่และติดฉลากอีกที่ถือว่าเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ความผิดทั้งหมดนี้ อย. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวที่สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาครเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 อย่างไรก็ตาม ในการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนผู้บริโภค ขณะนี้ เจ้าหน้าที่อย. ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันตรวจสอบอาหารบริโภคบรรจุเสร็จ หากพบว่าไม่มีฉลากอย.ข้างกระป๋อง ขอให้แจ้งที่สายด่วนผู้บริโภค 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งนี้ ปลากระป๋องที่บริษัททองกิ่งแก้วฟู้ดส์ จำกัด และบริษัทไทยเอดี ฟู้ดส์ ผู้แทนจำหน่าย ได้ขอฉลากมีทั้งหมด 15 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.ปลาซาร์ดีนในน้ำเกลือตราไทเอดี เลขสารบบอาหาร 74-1-1040-1-0014, 2.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0015, 3.ปลาแมคเคอรอลในซอสมะเขือเทศ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0018, 4.ปลาแมคเคอรอลในน้ำเกลือตราไทยเอดี เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0019, 5.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตรากู๊ดดี้ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0048, 6.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราทีเคเค เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0049, 7.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราชาวดอย เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0050, 8.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราแม่ครัวไทย เลข สารบบอาหาร 74-1-07040-1-0059, 9.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราแหวนเพชร เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0060, 10.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราชาววัง เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0061, 11.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตรากระต่ายทอง เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0062, 12.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตรากู๊ดดี้ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0074, 13.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราลีดเดอร์ไพรซ์ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0083, 14.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราเฟิร์สทไพรซ์ เลข สารบบอาหาร 74-1-07040-1-0084, และ 15.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราบิ๊กซี เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0085 ซึ่งขณะนี้ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีไม่ได้สั่งสินค้าจากบริษัทนี้แล้ว ทั้งหมดนี้ อย. ได้สั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เก็บออกจากชั้นวางขายทั้งหมดชั่วคราวจนกว่าผลการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น ********************************************* 29 มกราคม 2552


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ