กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า สถาบันมหิตลาธิเบศร และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นพิเศษ 1 (ปธพ.Executive : ปธพ.X) หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ (ปนพ.รุ่นที่ 1) และ ปธพ. รุ่นที่ 1-10  ระดมแพทย์อาสากว่า 200 คน จิตอาสา   กว่า 2,000 คน พร้อมอุปกรณ์การแพทย์มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 30 คลินิก เพิ่มการเข้าถึงบริการกลุ่มโรคที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนให้กับประชาชนและภิกษุสงฆ์ จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 10,000 ราย

             วันนี้ (19 พฤษภาคม 2567) ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์เปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 9 ประจำปี 2567 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสภานายกพิเศษแพทยสภา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พล.อ.ท. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ คณะกรรมการการจัดงานแพทย์อาสาฯ คณะกรรมการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ คณะนักศึกษาหลักสูตร ปธพ.X , ปธพ.1-10, ปนพ.1 คณะผู้บริหาร และส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วม

         ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อโครงการฯและดำเนินการโดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ภายใต้หลักการนำหมอไปหาคนไข้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาและลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทาง ตลอดจนนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับแพทย์ต่างจังหวัด พร้อมทั้งนำเครื่องมือทางการแพทย์ระดับสูงลงพื้นที่ขาดแคลน ช่วยในการวินิจฉัย ตรวจรักษาและคัดกรองโรค เชื่อมโยงประสานความช่วยเหลือแบบเครือข่าย สนับสนุนความเป็นจิตอาสาขององค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ด้วยการทำงานแบบธรรมาภิบาล ที่เน้นการมีส่วนร่วม

            ด้านนายสมศักดิ์กล่าวว่า โครงการหน่วยแพทย์อาสาฯ เป็นการจัดหน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ จากการบูรณาการโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายระบบสาธารณสุข แสดงถึงการรวมใจ รวมพลังและความสามัคคี โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของหลักสูตร โดยที่ผ่านมาให้การรักษาแล้วราว 100,000 ราย สำหรับครั้งที่ 9 นี้ จัดขึ้นที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา และ รร.อยุธยาวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค.2567 ให้บริการ 30 คลินิกโรคเฉพาะทาง อาทิ คัดกรองมะเร็ง, ผ่าตัดต้อกระจก, แขนขาเทียม, รถเข็นพระราชทาน, ตรวจสุขภาพพระสงฆ์, ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) โดยแพทย์อาสากว่า 200 คน จิตอาสากว่า 2,000 คน พร้อมอุปกรณ์การแพทย์มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ช่วยให้ประชาชนและพระสงฆ์ กว่า 10,000 ราย เข้าถึงการรักษา สอดคล้องกับโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ดำเนินการแล้ว 62 ครั้ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด ให้บริการประชาชนแล้วกว่า 570,000 ราย รวมถึงนโยบาย "30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว"ของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเน้นให้พี่น้องประชาชนได้รับความสะดวก ไม่ต้องลำบากเดินทางไกลเข้าไปรักษาในเมือง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง

               *************************************** 19 พฤษภาคม 2567



   
   


View 2281    19/05/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ