โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคหอบหืดในไทยปี 2547 พบคนป่วยทั่วประเทศกว่า 90,000 ราย ชี้เป็นโรครักษาไม่หายขาด พร้อมทั้งชี้ การกินหางจิ้งจกรักษาโรคหอบหืดเป็นเพียงความเชื่อ ยังไม่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ามีสรรพคุณรักษาได้จริง ด้านเลขานุการมูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา เผยขณะนี้สมุนไพรไทย “ หนุมานประสานกาย” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาโรคหอบหืดได้ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับการเสียชีวิตของดาราชื่อดัง จากโรคหอบหืดว่า โรคหอบหืดเป็นโรคของหลอดลมที่มีการอักเสบอย่างเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุผนังหลอดลมหนาตัว กล้ามเนื้อหลอดลมหดเกร็งตัว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด มีเสียงหวีด และหอบเหนื่อย อาการหอบเหนื่อยจะเกิดขึ้นทันทีที่ได้รับสารภูมิแพ้ โดยผนังหลอดลมของผู้ที่เป็นหอบหืด มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ การรักษาต้องใช้วิธีการควบคุมอาการหอบเป็นสำคัญ จากรายงานของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ล่าสุดในปี 2547 พบผู้ป่วยโรคหอบหืดเข้ารักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 90,293 ราย พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 28, 253 ราย รองลงมาคือภาคกลางไม่รวมกทม 28,140 ราย ภาคใต้ 18,187 ราย และ ภาคเหนือ 16,713 ราย นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า ในการป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ ให้กินยาหรือพ่นยาตามคำแนะนำของแพทย์ อย่ารับประทาน สูดดมหายใจ หรือสัมผัสสิ่งที่สงสัยว่าทำให้แพ้ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่าตรากตรำงานหรือออกกำลังกายเกินควร อย่าปล่อยอารมณ์ให้หงุดหงิด ฉุนเฉียว กังวลหรือเสียใจจนเกินไป ทั้งนี้การกินยาสมุนไพรต้องระมัดระวังและแน่ใจว่าเป็นยาสมุนไพรจริงๆ ไม่มีสเตียรอยด์(Steroids)หรือเพรดนิโซโลน (Prednisolone)ผสม ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงในระยะยาวได้ เพราะโรคเรื้อรังเหล่านี้ มักมีผู้แอบอ้างว่ามียารักษาให้หายขาดได้บ่อยๆ ยาบางประเภทอาจทำให้อาการหอบหืดหายได้ชั่วคราว แต่มีโทษภายหลังได้ นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่มีความเชื่อว่า กินหางจิ้งจกจะหายได้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าในหางจิ้งจกมีสรรพคุณรักษาโรคหอบหืดได้แต่อย่างใด สำหรับการออกกำลังกายในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ควรเลือกชนิดที่มีการออกแรงเป็นพักๆ เช่น ว่ายน้ำ เล่นเทนนิส ไม่ควรออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงต่อเนื่องเช่น การวิ่งระยะไกล ขี่จักรยาน และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายขณะที่มีอากาศเย็นและแห้ง เพราะจะกระตุ้นให้หลอดลมเกร็งหดตัวได้ง่ายขึ้น ทางด้านแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ เลขานุการมูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา และสาธารณสุขนิเทศก์ กล่าวว่า การรักษาโรคหอบหืด ในปัจจุบันต้องพึ่งการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อวินิจฉัยสาเหตุให้ชัดเจน และหากมีความจำเป็นต้องใช้สมุนไพรก็สามารถใช้สมุนไพรที่มีอยู่ตามบ้าน ได้แก่ หนุมานประสานกาย หรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า ว่านอ้อยช้าง โดยในใบหนุมานประสานกายจะมีสารซาโปนินส์ (Saponins) สามารถขยายหลอดลม ซึ่งจะลดการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการแพ้คือฮีสตามีน (Histamine) และสารเมชโคลิน (Methcholine) โดยนำใบสดตำให้แหลกและคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้ง ใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อปรุงรส กินแก้ไอในเบื้องต้นได้ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด จะต้องระมัดระวังในการเข้าไปใช้บริการในสปา เนื่องจากตามสปาต่างๆจะใช้น้ำหอมสกัด รวมทั้งมีการใช้ดอกไม้จำนวนมาก อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะในรายที่แพ้ละอองเกสร


   
   


View 15    17/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ