กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย สร้างเครือข่ายความร่วมมือ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ ยกระดับวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 51 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (17 มกราคม 2567) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยผู้บริหารนักวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา สถาบันพระบรมราชชนก จำนวนกว่า 600 คน ในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมการทำงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า วันนี้ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการเปิดบ้านครอบครัวสาธารณสุข (Public Health Open House Family) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาดูงานรับรู้ถึงบทบาทภารกิจของหน่วยงานระดับกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ส่วนกลาง) ตลอดจนได้เข้าเยี่ยมและสัมผัสการทำงานของแต่ละหน่วยงาน สร้างแรงบันดาลใจ และทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงจากการเข้าร่วมโครงการนอกจากนี้ยังเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารทุกระดับสองหน่วยงานอย่างเหมาะสมและทั่วถึงในการพัฒนาเครือข่ายการทำงานในอนาคต แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมมือกันการขับเคลื่อนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษาจากสถาบันพระบรมราชชนก โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรม และงานบริการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาทิ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้นแบบ สารมาตรฐาน การตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ การตรวจด้านรังสีและเครื่องมือแพทย์ การตรวจยา การตรวจชันสูตรเชื้อ การให้การรับรองห้องปฏิบัติการ การทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ นวัตกรรมชุดตรวจต่างๆ พร้อมทั้งเปิดอาคารห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข โชว์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะช่วงที่ต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งนักศึกษาจะได้ดูห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (Biosafety Level 3 laboratory; BSL 3) ที่เป็นห้องปฏิบัติการที่ออกแบบให้มีลักษณะพิเศษ สามารถป้องกันการหลุดรอดของเชื้อโรคสู่ภายนอก ใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์ วิจัยเชื้อโรคความเสี่ยงสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง โรคซาร์ส รวมทั้งโรคโควิด 19 เป็นต้น
โดยการปฏิบัติงานที่สำคัญ ได้แก่ การเพาะแยกเชื้อไวรัส การเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนเชื้อ การสกัดสารพันธุกรรม และการจัดการกับตัวอย่างติดเชื้ออุบัติใหม่ เพื่อเป็นคลังสายพันธุ์เชื้อแห่งชาติ ทำให้ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ และความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันควบคุมภัยคุกคาม ด้านสุขภาพของคนไทย และภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้หากหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาที่สนใจเยี่ยมชมการดำเนินงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0 25899850-7 ต่อ 99081 หรือติดต่อผ่านไลน์ออฟฟิเชียลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” นายแพทย์ยงยศ กล่าว
*********** 17 มกราคม 2567