รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการเข้าถึงบริการแนวชายแดน ทั้งการตรวจสุขภาพเพื่อการเฝ้าระวัง/ควบคุมโรคในแรงงานต่างด้าว และคุมเข้มปราบโรคที่อาจเป็นปัญหาอีก เช่น โรคเท้าช้าง ซิฟิลิส วัณโรคระยะติดต่อ มาลาเรียที่ดื้อยา ในรอบ 10 เดือนปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 17,000 ราย เสียชีวิต 24 ราย พบมากที่สุดในชาวพม่า เฉพาะที่แม่ฮ่องสอนต้องแบกรับรักษาฟรีปีละ 20-30 ล้านบาท
วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2549) ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจราชการและติดตามการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนกลุ่มน้อย ที่โรงพยาบาล ปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมการให้บริการแรงงานต่างด้าว ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ อำเภอเมือง พร้อมทั้งมอบนโยบายดูแลสุขภาพทุกสัญชาติในไทยให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนไทย
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขพบปัญหาที่เกิดจากต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมาใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา มีจำนวนสูงถึง 1.2 ล้านคน ในจำนวนนี้มาตรวจสุขภาพและเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุขเพียง 8.8 แสนคน จากการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้รับรายงานผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาใช้แรงงานและครอบครัวใน 74 จังหวัด ทั้งหมด 17,117 ราย เสียชีวิต 24 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-34 ปี ร้อยละ 40 รองลงมาอายุ 0-4 ปีร้อยละ 27
เมื่อแยกตามสัญชาติ เป็นชาวพม่ามากที่สุดร้อยละ 70 รองลงมา ได้แก่ กัมพูชาและลาว โรคที่มีรายงานสูงสุด ได้แก่ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน 8,352 ราย มาลาเรีย 5,311 ราย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 2,646 ราย วัณโรค 469 ราย โรคเรื้อน 20 ราย พื้นที่มีรายงานผู้ป่วยต่างชาติมากที่สุดในประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ ตาก 3,470 ราย กาญจนบุรี 2,732 ราย เชียงราย 2,184 ราย แม่ฮ่องสอน 1,516 ราย ระนอง 1,424 ราย อย่างไรก็ดี หลังจากที่ให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ ในอัตรา 1,300 บาทต่อคนต่อปี มีการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง พบว่าจำนวนการป่วยลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ป่วย 24,150 ราย เสียชีวิต 43 ราย
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในการเฝ้าระวังโรคติดต่อจากแรงงานต่างด้าวและครอบครัว ทั้งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะตามแนวชายแดน เฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อสำคัญ 7 โรค คือ โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยให้สถานบริการทุกแห่งจัดระบบบริการด้านสุขภาพโดยยึดหลักมนุษยธรรม ให้สามารถเข้าถึงบริการ มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเอง ได้รับบริการที่มีคุณภาพ และคำนึงถึงความมั่นคงทางด้านสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่นำโรคมาแพร่สู่คนไทย
ทางด้านนายแพทย์สุวัฒน์ กิตติดิลกกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า แม่ฮ่องสอนมีแรงงานต่างด้าว 96,591 คน ได้รับบัตรรับรองด้านรักษาพยาบาลร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือรักษาฟรี ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายปีละไม่น้อยกว่า 20-30 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ส่งผลให้การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ทั่วถึง อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคตามแนวชายแดนได้ง่าย
*********************************** 10 พฤศจิกายน 2549
View 14
10/11/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ