กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อ ล่าสุดควบคุมโรคได้แล้ว ล่าสุดพบผู้ป่วยทั้งหมด 208 รายใน 2 จังหวัดเดิมคือนราธิวาสและปัตตานี และทำหนังสือขอความร่วมมือคลินิก ร้านขายยา และโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ หากพบรายใดมีไข้ ปวดข้อ มีผื่นแดง ให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อควบคุมโรคอย่างทันท่วงที นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมป้องกันโรคเขต 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงความคืบหน้าของการควบคุมโรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อ ว่า สถานการณ์ล่าสุด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2551 พบผู้ป่วยทั้งหมด 208 ราย ประกอบด้วย ที่จังหวัดนราธิวาส 184 ราย พบใน 3 อำเภอเดิม ได้แก่ อำเภอยี่งอ 100 ราย อำเภอแว้ง 71 ราย อำเภอเจาะไอร้อง 13 ราย และจังหวัดปัตตานี 24 ราย พบที่อำเภอไม้แก่นแห่งเดียว ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ไม่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยที่พบเพิ่มขึ้นนี้ ไม่ใช่จากสาเหตุโรคแพร่ระบาด แต่เป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ชาวบ้านอย่างแพร่หลาย เกี่ยวกับอาการป่วยของโรคนี้ ซึ่งมีลักษณะเด่นต่างจากโรคอื่นๆ คือมีอาการไข้สูงฉับพลัน ปวดตามข้อต่างๆ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 98 และมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ไม่คัน ทำให้ประชาชนรู้จักโรคดีขึ้น และเข้ารับการรักษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด และเข้มข้นขึ้น นอกจากจะเน้นการควบคุมป้องกันในสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่แล้ว สำนักงานควบคุมป้องกันโรคเขต 12 ได้ขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านขายยาใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล พัทลุง และตรัง ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ หากพบรายใดมีไข้ มีผื่นแดงขึ้น และปวดข้อ ขอให้นึกถึงโรคไข้ปวดข้อ และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ทันที เพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดอย่างทันท่วงที นายแพทย์สุวิชกล่าวต่ออีกว่า โรคไข้ปวดข้อนี้ ไม่ใช่โรคใหม่ เคยพบในประเทศไทยมาแล้ว เกิดจากยุงลายสวนกัด เมื่อป่วยแล้วจะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต ไม่ป่วยซ้ำอีก ไม่ทำให้เสียชีวิต ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง โดยอาการไข้จะหายภายใน 3-7 วัน แต่อาการปวดข้อ จะยังอยู่เป็นสัปดาห์หรืออาจถึงเดือน แต่อาการจะหายได้เอง ไม่ต้องกังวลใจ สำหรับการป้องกันโรค ประชาชนต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้งขณะนอนกลางวัน ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้าน และนอกบริเวณบ้านในรัศมีประมาณ 10 เมตร เพื่อลดปริมาณยุงลาย นายแพทย์สุวิชกล่าว ********************************* 16 ตุลาคม 2551


   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ