วันนี้ (24 มีนาคม 2566) ที่ตึกภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ขึ้นกล่าวเนื่องในวันวัณโรคสากล ภายในงาน World TB Day Real Life for TB Management in Thailand รู้ทันวัณโรคในวันวัณโรคโลก เพื่อถ่ายทอดความรู้ในวันวัณโรคสากล ซึ่งจัดขึ้นโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคและผู้อำนวยการกองวัณโรค ร่วมกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน วัณโรคเข้าร่วม

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า สหพันธ์องค์กรต่อต้าน วัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) ได้เสนอให้กำหนดวันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดและเป็นปัญหาทั่วโลก และในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ยุติวัณโรค เราทำได้” (YES WE CAN END TB) โดยให้สถานบริการทุกแห่งจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส การให้ความรู้และให้คำปรึกษา เพื่อเร่งรัดค้นหาผู้ที่มีอาการ และรักษาให้หายขาด ลดการรังเกียจตีตรา และเลือกปฏิบัติผู้ป่วยสามารถกินยาและรักษาต่อเนื่องจนครบและหายขาดจากวัณโรคได้

         วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถติดต่อได้ด้วยระบบทางเดินหายใจและติดต่อจากคนสู่คน พบได้ทั่วไปแต่จะพบมากที่สุดในกลุ่มเสี่ยงที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีที่สูบบุหรี่ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมกับโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตเรื้อรังที่รับยากดภูมิคุ้มกันโรคปอดฝุ่นหิน ประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เช่น ชุมชนแออัด นักโทษในเรือนจำ สถานสงเคราะห์ บ้านพักคนพิการ คนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้สารเสพติด แรงงานต่างด้าว

         นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคได้ให้ความสำคัญกับปัญหาผู้ติดเชื้อวัณโรคมาโดยตลอด และในฐานะที่เป็นส่วนราชการที่รับผิดชอบและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยตรง มีแผนงานและกิจกรรมที่จะผลักดันขับเคลื่อนนโยบาย การดำเนินงานป้องกัน ดูแล รักษา ควบคุมวัณโรคของประเทศ เพื่อยุติปัญหาวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการระดับชาติ อันจะนำไปสู่เป้าหมาย “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค” (TB-Free Thailand For TB-Free World)

         สำหรับการป้องกันวัณโรค ให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง หากมีผู้ป่วยวัณโรคในบ้านต้องให้รับประทานยาให้ครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน พร้อมให้สมาชิกในครอบครัวไปตรวจคัดกรองการติดเชื้อเพื่อรับประทานยาป้องกัน และขอเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม หรือขอรับคำปรึกษาฟรีได้ที่สถานบริการสาธารณสุข/โรงพยาบาลของรัฐ ทุกแห่ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านหรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

*****************************

ข้อมูลจาก : กองวัณโรค/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 24 มีนาคม 2566

 

 



   
   


View 297    24/03/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ