โรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง แนะความสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืน
- กรมการแพทย์
- 12 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 ภายใต้ชื่อ “เสริมพลัง สร้างความรู้ สู่วิถีนมแม่อย่างยั่งยืน: Step up Breastfeeding, Support and Sustain” เพื่อช่วยให้คุณแม่และครอบครัวสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก โดยไม่มีการเสริมน้ำหรืออาหารอื่น เพื่อสร้างสังคมนมแม่
(วันที่ 22 มีนาคม 2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการเป็นประธานประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 ภายใต้ชื่อ “เสริมพลัง สร้างความรู้ สู่วิถีนมแม่อย่างยั่งยืน: Step up Breastfeeding, Support and Sustain” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า การสร้างอนาคตของประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างต้นทุนมนุษย์โดยเริ่มที่เด็กปฐมวัย หากเด็กปฐมวัยไม่แข็งแรงหรือมีจำนวนไม่มากพอที่จะเข้าสู่วัยทำงาน ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยรณรงค์ให้แม่และครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญ และมีทัศนคติที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สร้างจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานของชีวิตตั้งแต่ชั่วโมงแรกของเด็กให้มีความมั่นคงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
“กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการสร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพเช่นเดียวกัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน และต่อเนื่องด้วยนมแม่คู่กับอาหารตามวัยถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดี นมแม่หยดแรกเปรียบเสมือนวัคซีนในการป้องกันโรค เพราะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นกระบวนการสร้างความรัก ความผูกพันจากแม่ไปสู่ลูก ผ่านการสบตา การสัมผัส และการโอบกอด ที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะทุพโภชนาการของเด็ก รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวอีกด้วย” นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดลงอย่างมาก กรมอนามัยจึงจำเป็นต้องดูแลและให้ความสำคัญด้านคุณภาพชีวิตให้มากขึ้น โดยเริ่มให้เด็กแรกเกิดควรได้กินนมแม่อย่างเดียว เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งข้อมูลในประเทศไทย พบว่า ยังต่ำมากเพียงร้อยละ 14 ที่เด็กได้กินนมแม่อย่างเดียว กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าหมายในปีพ.ศ. 2568 ให้เด็กแรกเกิดจนถึง 6 เดือน ร้อยละ 50 ได้กินนมแม่อย่างเดียว โดยไม่เสริมน้ำหรืออาหารอื่น และให้นมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น เพื่อสร้างเด็กไทย ให้แข็งแรง มีสุขภาพที่ดี มีทักษะพร้อมรองรับในศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยกรมอนามัย ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันขับเคลื่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เป็นวิถีแห่งแม่ ครอบครัว ชุมชน เป็นค่านิยมของสังคม และวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง
“ที่สำคัญ กรมอนามัยยังได้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกรูปแบบ เช่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ให้ความสำคัญและดำเนินงานปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและ เด็กเล็ก พ.ศ. 2560 เพื่อปกป้องสิทธิและสุขภาพของเด็กทุกคนไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ ผ่านการควบคุมวิธีการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดให้เหมาะสม ขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก (BFHI) เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้ได้ตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก และพัฒนาศักยภาพพยาบาลเฉพาะทาง ส่งเสริมนโยบายการลาคลอดของพ่อ
และแม่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อช่วยลดภาระครอบครัว การจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการสำหรับแม่ทำงาน รวมถึงการจัดบริการขนส่งนมแม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สร้างความรอบรู้และเสริมพลังในการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระดับพื้นที่ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสถานพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน และกลุ่มชมรมในชุมชน ให้เกิดแนวทางการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแมในพื้นที่ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มคุณแม่อาสา ที่เห็นประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจากสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่ได้รับความสนใจจากแม่และสังคมลดลง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยจึงสนับสนุนให้สถานบริการของทางภาครัฐ ส่งเสริมให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ก่อนออกจากโรงพยาบาล และจัดบริการดูแล ให้ปรึกษา สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคุณแม่
“อีกทั้ง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยังได้จับมือกับกรมอนามัย (ร่าง) ยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้น เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็น “วิถีของแม่และสังคมไทย” ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1) การขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมาย (Policy & Law Oriented) 2) การปลูกฝังและสร้างค่านิยม (Value and Culture Oriented) 3) การพัฒนาคุณภาพระบบบริการ (Quality of Service Oriented) และ 4) การจัดการความรู้และนวัตกรรม (Knowledge and Innovation Oriented) สำหรับการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 เสริมพลัง สร้างความรู้ สู่วิถีนมแม่ อย่างยั่งยืน Step up Breastfeeding: Educate, Support and Sustain ด้วยความร่วมมือจากราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ สภาการพยาบาล สมาคมโภชนาการเด็ก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พร้อมทั้งมอบโล่รางวัลมารดา ผู้เกื้อกูลสังคมให้กับคุณแม่นักแสดง ได้แก่ ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, เภสัชกรหญิงณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล, อาลิซาเบธ แซ๊ดเลอร์ ลีนานุไชย, สุนิสา หิรัณยัษฐิติ, เภสัชกรหญิง ชนกวนัน รักชีพ เพื่อสร้างพลังในการเลี้ยงลูกด้วยแม่ให้กับสังคมไทย” แพทย์หญิงศิริพร กล่าว
***
กรมอนามัย / 22 มีนาคม 2566