ทีม SEhRT กรมอนามัย ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน จากเหตุไฟไหม้โรงงานกระดาษรีไซเคิล จังหวัดระยอง
- กรมอนามัย
- 14 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังคงเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ยืนยันว่าวัคซีนชนิด mRNA ที่ประเทศไทยจัดหามาทั้งชนิดรุ่นเก่า (monovalent) และรุ่นใหม่ (bivalent) มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับสูง โดยก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะออกคำแนะนำการใช้วัคซีนโควิด 19 ในทุกครั้ง ได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ความสามารถในการลดการติดเชื้อ ป่วยหนัก และลดการเสียชีวิตหากฉีดวัคซีนได้ครบถ้วน คณะกรรมการได้คํานึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสําคัญ หากพบเคสที่มีอาการรุนแรงภายหลังการได้รับวัคซีน คณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) จะลงไปดูรายละเอียดว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่ในทุกราย
นพ.ธเรศ ย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนไปมากกว่า 146 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นวัคซีน mRNA มากกว่า 55 ล้านโดส วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงที่พบบ่อย มักเป็นอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ต่ำๆ สำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น การแพ้วัคซีน จะพบได้น้อยมาก ในกรณีที่มีการส่งต่อข้อความในสื่อโซเชียลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA นั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศพบว่า ปัจจุบันยังไม่พบความเกี่ยวข้องของการเกิดอาการสมองอักเสบกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตามหลังการฉีดวัคซีน ข้อมูลในประเทศไทยพบได้ประมาณ 1 ราย ต่อการฉีดหนึ่งล้านเข็ม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ในทางกลับกันเราพบว่าผู้ป่วยโควิด 19 จะมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่า 5-10 เท่า และมีความรุนแรงสูงกว่ามากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เมื่อติดเชื้อโควิดจะมีโอกาสเข้าไอซียูหรือเสียชีวิตจากภาวะทางหัวใจและปอดได้สูงหากไม่ฉีดวัคซีน แต่ถ้าได้รับฉีดวัคซีนภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะพบได้น้อยลงมากแม้จะเป็นโควิด 19 ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสเกิดหัวใจอักเสบจากโรคโควิด 19 ได้
ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวเสริมว่า การฉีดวัคซีน mRNA ผ่านจุดที่เรียกว่า “ทดลอง” มานานแล้ว เพราะวัคซีน mRNA มีการฉีดไปแล้วมากกว่าพันล้านโดสทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ต้องเรียกว่าเป็นวัคซีนที่มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามกระบวนการที่เข้มงวด ทั้งก่อนและหลังการขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมในประชากรที่แตกต่างกัน ผลออกมาชัดเจนว่า ยิ่งอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเท่าใด จำนวนผู้ป่วยรวมถึงอัตราการเสียชีวิตในประชากรจะยิ่งลดลง ซึ่งเน้นย้ำให้เราเห็นว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการแพร่กระจายโรค และป้องกันการเสียชีวิตในประชากรได้จริง และยังช่วยลดการเกิดภาวะ ลองโควิด หรืออาการตกค้างหลังจากหายจากโรคโควิดแล้วได้ด้วย และที่สำคัญคือในเด็กวัคซีนจะป้องกันภาวะมิสซี (MIS-C) ซึ่งทำให้เด็กป่วยหนักมากได้ ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตามหลังการฉีดวัคซีนชนิด mRNA นั้น ในต่างประเทศมีรายงานอยู่ที่ประมาณ 1 ในแสนโดส ในผู้ที่อายุน้อยและวัยรุ่น ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ในประเทศไทยพบน้อยกว่ามาก คือเฉลี่ยประมาณ 1 ในล้านโดส ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดอาการไข้ เพลีย บางคนหัวใจเต้นเร็วขึ้นและมีความดันโลหิตสูงขึ้นได้ชั่วคราว จึงขอให้พักผ่อนให้เพียงพอหลังการฉีดวัคซีน งดออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงสัปดาห์แรกของการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี หากมีอาการผิดปรกติ ให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม
*********************************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566