สาธารณสุขแนะพ่อแม่สังเกตพัฒนาการลูก หากพบพูดช้า อย่าคิดว่าแค่เด็กปากหนัก ต้องรีบพาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ และรับการแก้ไขโดยเร็ว หากช้าอาจสายเกินแก้ เพราะการพูดและการได้ยินถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ทั้งการฟังและการอ่าน ล่าสุดพบเด็กไทย กว่า 1 ใน 4 มีพัฒนาการล่าช้า
เช้าวันนี้ (1พฤศจิกายน2549) ที่โรงแรมเรดิสัน กทม. นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการนักแก้ไขการพูด นักแก้ไขการได้ยิน นักกิจกรรมบำบัด นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทย์ พยาบาล จำนวนกว่า 120 คน จัดโดยสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย ว่า ปัจจุบันพบเด็กไทยมีพัฒนาการทางภาษาผิดปกติมากขึ้น จากการวิเคราะห์ปัญหาในรอบ 5 ปีมานี้ พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีพัฒนาปกติทุกด้านเพียงร้อยละ 72 ค่อนข้างล่าช้าร้อยละ 28 หรือกว่า 1 ใน 4 ส่วนใหญ่เป็นพัฒนาการด้านภาษา การใช้กล้ามเนื้อ และการปรับตัว การช่วยเหลือตนเอง โดยพบเด็กมีปัญหาความผิดปกติทางการได้ยิน 1.7 ต่อประชากร 1,000 คน ส่วนพัฒนาการทางภาษาผิดปกติ ร้อยละ 5-10 ซึ่งพัฒนาการทางด้านภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้อื่นๆ อีก เช่น การอ่าน การฟัง เป็นต้น หากเด็กมีปัญหาเรื่องนี้จะส่งผลต่อการรับรู้ด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสังคมของเด็ก
ดังนั้น จึงขอแนะนำให้พ่อแม่ เฝ้าดูพัฒนาการของลูกอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด หากเด็กอายุ 4-6 เดือน ไม่หันหาเสียง และเด็กทั่วไปจะเริ่มพูดเมื่ออายุประมาณ 1 ขวบ แต่หากเมื่ออายุ 2 ขวบ แล้วยังไม่เริ่มพูดคำที่มีความหมาย คำคำเดียว เช่น พ่อ แม่ น้ำ หม่ำ ยาย หรือเมื่ออายุ 1 ขวบครึ่งยังไม่พูดคำ 2 คำติดกัน หรือไม่พูดเป็นวลีหรือประโยคสั้นๆ และยังไม่สามารถพูดโต้ตอบได้เมื่ออายุ 2 ปี อย่าคิดว่าเด็กปากหนัก และรอไปเรื่อยๆเพราะคิดว่าเด็กจะพูดได้เองเมื่อถึงเวลา จะเป็นอันตรายต่อเด็กมาก เพราะจะทำให้เสียโอกาสในการกระตุ้นให้เป็นไปตามปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เช่น กุมารแพทย์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ จิตแพทย์ ประสาทแพทย์ นักจิตวิทยา นักแก้ไขการได้ยินและนักแก้ไขการพูด เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ และวางแผนในการแก้ไขรักษาอย่างต่อเนื่อง
ผู้ป่วยเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น ฟื้นฟูระยะยาว เช่น เด็กที่พูดช้าและภาษาไม่สมวัย จะสามารถกระตุ้นพัฒนาได้เต็มที่ในช่วง 2-5 ปี หากขาดการบำบัดรักษา อาจมีความบกพร่องทางภาษาและการพูดติดตัวไปตลอดชีวิตได้ หรืออาจมีความจำกัดด้านการพูดและภาษาตลอดไป และส่งผลกระทบถึงการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ด้านสติปัญญา ด้านการเรียนรู้ ฯลฯ
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า การพูดช้า พบได้บ่อยในเด็กหูพิการ เด็กสมองพิการแต่กำเนิด ปัญญาอ่อน เด็กออทิสติก นอกจากนี้ ยังมีเด็กบางรายที่มีปัญหาการพูดช้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากการขาดการกระตุ้นทางการพูดที่เหมาะสมและขาดแรงจูงใจในการพูด เนื่องจากพ่อแม่หรือคนเลี้ยงเข้าใจและตอบสนองได้ทุกเรื่องโดยที่เด็กไม่ต้องพูด หรือปล่อยเด็กให้อยู่กับโทรทัศน์มากเกินไป
ล่าสุดไทยมีนักแก้ไขการพูดน้อยมากเพียง 60 คน โดยร้อยละ 80 อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากข้อมูลจากโรงพยาบาลที่มีนักแก้ไขการพูดพบว่า มีผู้ที่มีปัญหาทางการพูดเข้ารับการตรวจรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูดและภาษาเฉลี่ยวันละ 10 คน ใช้เวลาในการตรวจรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยรายละ 33 นาที มีผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยปีละ 386 คน นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
****************************** 1 พฤศจิกายน 2549
View 14
01/11/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ