รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ โดยใช้วิทยุสื่อสารเสริมระบบโทรศัพท์ 1669 เพื่อให้เหมาะสถานการณ์ ซึ่งเหตุฉุกเฉินรอบ 32 เดือน 1 ใน 3 มาจากเหตุการณ์ไม่สงบ พร้อมทั้งมีแนวคิดตั้งหน่วยเฉพาะกิจสธ. 4 จังหวัดใต้ วันนี้(25 ตุลาคม 2549)ที่ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและรับฟังปัญหา จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา นายแพทย์มงคล กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้กำลังใจ รับฟังปัญหาและวางแผนแก้ไขปัญหาเพื่อ พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ โดยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ทั้งนี้จากการวิเคราะห์สถานการณ์การป่วยฉุกเฉินของประชาชน ในรอบ 32 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2547 – 30 กันยายน 2549 ในพื้นที่ดังกล่าวพบว่า 1 ใน 3 มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ อันดับ 1 ได้แก่การยิงด้วยอาวุธปืน รองลงมาได้แก่ลอบวางเพลิง วางระเบิด และทำร้ายด้วยอาวุธมีคม รวมทั้งการโรยตะปูเรือใบ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ทางระบบแจ้งเหตุ 1669 เป็นไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งมีการตัดสัญญานโทรศัพท์มือถือหากเป็นกรณีลอบวางระเบิด จึงให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้วิทยุสื่อสารแทนมือถืออีกช่องทางหนึ่ง ส่วนประชาชนยังสามารถโทรแจ้งเหตุ 1669 ทางระบบโทรศัพท์บ้านได้ นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในการพัฒนาระบบการสาธารณสุขใน 4 จังหวัดภาคใต้ กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจด้านสาธารณสุขขึ้น ทำหน้าที่ประสานงานการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของประเทศในการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขต เป็นผู้อำนวยการ เพื่อสามารถลงพื้นที่ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ยิ่งขึ้น ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีสถานบริการถูกวางระเบิดและวางเพลิง 9 แห่ง ที่ปัตตานี 7 แห่งและยะลา 2 แห่ง มีข้าราชการและลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ 15 ราย เสียชีวิต 7 ราย มีอาสาสมัครสาธารณสุขบาดเจ็บ 8 ราย และเสียชีวิต 23 ราย และที่สำคัญจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ขอย้ายออกนอกพื้นที่มากขึ้นหลายร้อยคน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์อย่างมาก ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆถึงร้อยละ 60 ที่ขาดแคลนและเป็นปัญหามากที่สุดคือแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดทุกสาขา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนแก้ไขระยะยาว โดยรับชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในพื้นที่เข้าเรียนสายการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น เมื่อจบแล้วสามารถทำงานในพื้นที่ได้เลย ตุลาคม6/6 ******************************* 25 ตุลาคม 2549


   
   


View 14    25/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ