สาธารณสุข เผยผลวิจัยคุณค่าโภชนาการในแมลงกินได้ยอตฮิต 8 ชนิดในไทย พบมีโปรตีนคุณภาพดีเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่งและไข่ไก่ แต่ปริมาณไขมันโดยเฉพาะคอเลสเตอรอลค่อนข้างสูง ไม่เหมาะกับผู้มีไขมันในเลือดสูง และที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ผู้เป็นโรคภูมิแพ้ เนื่องจากในแมลงที่ทอดที่ไม่สะอาด หรือที่เก็บไว้นานหลายวัน อาจมีสารกระตุ้นการเกิดภูมิแพ้ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ควรเลือกบริโภคปรุงสุก สดใหม่เท่านั้น
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระแสความนิยมบริโภคแมลงในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ชาวชนบทนิยมนำมาปรุงเป็นกับข้าว ด้วยวิธีทอด ปิ้ง ย่าง คั่ว หมก อ่อม แกง ยำ และตำน้ำพริก แต่ขณะนี้กลายเป็นการบริโภคเป็นอาหารว่าง ซึ่งแต่ละปีมีปริมาณการบริโภคแมลงทุกชนิดประมาณ 2 ตัน จนกระทั่งมีธุรกิจเพาะพันธุ์แมลงเพื่อนำมาขายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ในลักษณะแฟรนไชส์ สร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยงแมลงส่งขาย และผู้นำไปทอดขาย โดยข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร พบว่าประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารอย่างน้อย 194 ชนิด ที่นิยมได้แก่ แมลงกินูน (จินูน) แมลงกุดจี่ แมงดานา ตัวอ่อนผึ้ง มดแดง ตัวอ่อนของต่อ จิ้งโกร่ง จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงกระชอน แมลงเหนียง แมลงตับเต่าหรือด้วงติ่ง แมลงมัน แมลงเม่า แมลงค่อมทอง หนอนและดักแด้ไหม
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้ ที่นิยมรับประทานในไทย 8 ชนิดได้แก่ จิ้งโกร่ง จิ้งหรีด ดักแด้ไหม ตั๊กแตนปาทังก้า ตัวอ่อนของต่อ แมลงกินูน แมลงป่องและหนอนไม้ไผ่ พบว่าแมลงในขนาดน้ำหนัก 100 กรัม จะมีพลังงาน 98-231 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 9 - 28 กรัม ไขมัน 2 -20 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1 5 กรัม ซึ่งโปรตีนในแมลงทุกชนิดยกเว้นหนอนไม้ไผ่ มีปริมาณเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่งและไข่ไก่ในขนาดน้ำหนักเท่ากัน
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า แมลงที่มีพลังงานและไขมันสูงที่สุดคือหนอนไม้ไผ่ แมลงที่มีโปรตีนสูงสุดคือตั๊กแตนปาทังก้า รองลงมาคือแมลงป่อง ส่วนคอเลสเตอรอล พบในจิ้งหรีดมีมากที่สุด มากเท่ากับที่อยู่ในหัวกุ้งสดหรือน่องไก่ในน้ำหนักเท่ากัน ในแมลงป่องมีคอเลสเตอรอลเทียบเท่ากับหนังไก่ ส่วนตั๊กแตนปาทังก้า มีคอเลสเตอรอลเท่ากับขาหมูหรือเนื้อไก่ในขนาดน้ำหนักเท่ากัน ประชาชนจึงต้องระมัดระวังในการบริโภคแมลงเหล่านี้
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการบริโภคแมลง โดยเฉพาะรับประทานเป็นของว่าง ควรระมัดระวัง อาจจะทำให้ได้รับพลังงาน ไขมันและคอเลสเตอรอลมากเกินไป เพราะในแมลง แม้จะมีโปรตีนคุณภาพดีพอสมควร แต่มีไขมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ด้วย หากนำแมลงไปทอดซึ่ง่ใช้น้ำมัน ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณไขมันให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องระวังสารพิษตกค้างที่ปนเปื้อนมากับยากำจัดศัตรูพืชด้วย ตามที่มีข่าวพบผู้มีอาการแพ้หลังบริโภคแมลงทอดอยู่บ่อยๆ ดังนั้นก่อนนำแมลงมาปรุงอาหารควรล้างให้สะอาด และต้องเป็นแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่ก่อนปรุงสุก เนื่องจากหากเป็นแมลงที่ตายแล้ว จะระวังยาก อาจจะตายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ได้
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์กล่าวต่อว่า หลังจากรับประทานแมลงทอด ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพบปัญหา แต่มีบางรายที่อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หรือมีอาการตาบวม ปากบวมได้ สาเหตุเกิดเนื่องมาจากการได้รับ สารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะเกิดอาการง่าย
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์กล่าวต่ออีกว่า สารฮีสตามีนดังกล่าวจะพบในอาหารประเภทโปรตีนที่ผ่านการปรุงมานานหลายวัน เริ่มมีการเน่าเสีย และพบในอาหารที่ไม่สะอาด โดยแบคทีเรียบางชนิด สามารถเปลี่ยนกรดอะมิโน ในโปรตีนที่มีชื่อว่าฮีสติดีน (Histidine) ไปเป็นฮีสตามีน ซึ่งอาการแพ้จะมีแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรง เสียชีวิต ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และปริมาณอาหารที่ได้รับ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมลงทอดที่ไม่สะอาด หรือแมลงทอดที่เก็บไว้นานๆ เพราะอาจทำให้ได้รับสารฮีสตามีนปริมาณมาก ส่งผลให้อาการแพ้กำเริบและหากรับประทานมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ในส่วนของพ่อค้าแม่ค้า ควรเลือกซื้อแมลงที่จะนำมาทอด โดยเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แมลงควรมีความสดใหม่ทุกวัน ไม่นำแมลงที่ตายแล้วมาทอดหรือเอาของเหลือมาอุ่นขาย เนื่องจากอาจทำให้มีสารกระตุ้นภูมิแพ้เกิดขึ้นได้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันทอดซ้ำเกิน 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันสารก่อมะเร็ง โดยกรมอนามัยจะเข้าไปทำการตรวจสอบ ปรับปรุงมาตรฐานร้าน แผงลอยจำหน่ายแมลงทอดให้ได้ตามเกณฑ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย เหมือนแผงลอยจำหน่ายอาหารทั่วไปด้วย นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์กล่าว
******************************************* 20 กรกฎาคม 2551
View 12
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ