รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่และ อสม. ในจังหวัดที่มีน้ำท่วม เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง ตาแดง โรคฉี่หนู อย่างใกล้ชิด แนะประชาชนที่ติดอยู่ตามบ้านเรือน อย่าทิ้งขยะหรือถ่ายอุจจาระลงในน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรก เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย วันนี้ (11 ตุลาคม 2549) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหาร เดินทางไปติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่สถานีอนามัยบ้านไทรม้าเหนือ ตำบลไทรม้า และตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และโรงพยาบาลปากเกร็ด ออกให้บริการตรวจรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วย นอกจากนี้ยังได้มอบเครื่องอุปโภค บริโภค ยาสามัญประจำบ้านให้ผู้ประสบภัย 150 ชุด และถุงดำ จำนวน 5,000 ใบ ให้ประชาชนที่ติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม ใส่อุจจาระเพื่อนำไปทิ้งบนบก เนื่องจากประชาชนไม่สามารถถ่ายลงส้วมได้ นายแพทย์มงคล กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดขณะนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายทั้งบ้านเรือนและทรัพย์สินแล้ว สิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนผู้ประสบภัยที่สำคัญคือ โรคภัยหรือการเจ็บป่วยที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคน้ำกัดเท้าหรือเท้าเปื่อย ท้องร่วง ตาแดง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคฉี่หนู ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. ออกให้คำแนะนำประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดโรค และให้เฝ้าระวังป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม ทั้งโรคฉี่หนู ตาแดง อุจจาระร่วง และการถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยอย่างเต็มที่ รวมทั้งห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรก เชื้อโรคแพร่กระจายในน้ำได้ง่าย อาจเกิดโรคระบาด ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดขอให้ถ่ายอุจจาระ รวมทั้งทิ้งขยะลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้มิดชิดก่อนนำไปเผาทำลายบนบก ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ดื่มน้ำสะอาด สวมใส่เสื้อผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเนื่องจากช่วงฝนตกอากาศจะชื้น โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในภาพรวมการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย กระทรวงสาธารณสุขสรุปยอดผู้มารับบริการจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 1,595 หน่วย มีประชาชนป่วยทั้งสิ้น 237,481 ราย ส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า 108,250 ราย ผื่นคัน 34,720 ราย ไข้หวัด 24,770 ราย เครียด 14,491 ราย ปวดเมื่อย 15,539 ราย ตาแดง 10,536 ราย บาดแผล 9,259 ราย อุจจาระร่วง 5,684 ราย เฉพาะวันที่ 10 ตุลาคมวันเดียว มีผู้รับบริการทังสิ้น 17,572 ราย มากที่สุดที่สุพรรณบุรี 6,707 ราย รองลงมาที่นนทบุรี 3,356 ราย พระนครศรีอยุธยา 3,142 ราย สำหรับจังหวัดนนทบุรี มีสถานีอนามัยถูกน้ำท่วม ได้รับความเสียหาย 14 แห่ง อยู่ในเขตอำเภอเมือง 3 แห่ง ปากเกร็ด 7 แห่ง บางกรวย 2 แห่ง บางใหญ่ 1 แห่งและบางบัวทอง 1 แห่งแต่ยังทำการได้ ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัยมาตั้งแต่ 30 กันยายน 2549จนถึง 10 ตุลาคม 2549 จำนวน 306 หน่วย มีผู้มารับบริการ 55,687 ราย พบน้ำกัดเท้า 32,255 ราย ผื่นคัน 9,541 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 3,497 ราย ภาวะเครียด 3,276 ราย ปวดศีรษะ 2,432 ราย ไข้หวัด 2,230 ราย ตาแดง 715 ราย ท้องเสีย 180 ราย และสัตว์มีพิษกัดต่อย 171 ราย ตุลาคม2/5 ************************************ 11 ตุลาคม 2549


   
   


View 16    11/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ