ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสัญญาณโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในพื้นที่น้ำท่วมทุกจังหวัดในรอบ 9 เดือนปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 20-30 กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดควบคุมมาตรฐานโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด แนะประชาชนให้ดื่มน้ำต้มสุก และน้ำสะอาดบรรจุขวด งดกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เผยยอดผู้ป่วยน้ำท่วมล่าสุดพุ่งขึ้น 120,000 กว่าคน
วันนี้ (6 ตุลาคม 2549) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการของสถานีอนามัยที่ถูกน้ำท่วมในอำเภอพรหมบุรีและอำเภออินทร์บุรี ได้แก่ สถานีอนามัยตำบลบ้านแป้ง สถานีอนามัยน้ำตาล สถานีอนามัยท่างาม สถานีอนามัยชีน้ำร้าย ซึ่งเป็นสถานีอนามัย 4 ใน 9 แห่งที่ถูกน้ำท่วมชั้นล่างอาคารทั้งหมด ระดับน้ำสูง 1 - 2 เมตร แต่อาคารชั้นบนยังทำการได้ และตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลอินทร์บุรี ซึ่งน้ำท่วมบริเวณถนนทางเข้าโรงพยาบาล ระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร โดยได้นำยาสามัญประจำบ้านไปแจกให้ชาวบ้าน 2,500 ชุด และมอบให้นายอำเภอพรหมบุรี จำนวน 1,400 ชุด
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วม คาดว่าแนวโน้มจำนวนผู้เจ็บป่วยที่ได้รับผลกระทบจะมีมากขึ้น เนื่องจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและกระทบวงกว้าง ตั้แต่วันที่ 23 สิงหาคม 2549 จนถึงวันนี้ มีประชาชนเจ็บป่วยแล้ว 120,551 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไม่มีเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นนอนโรงพยาบาล สิ่งที่จำเป็นขณะนี้ก็คือ เรื่องอาหารและน้ำดื่ม ผู้ประสบภัยเกือบทั้งหมดจะดื่มน้ำบรรจุขวดที่ได้รับการช่วยเหลือ ได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศตรวจสอบควบคุมมาตรฐานโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดอย่างเข้มงวดเป็นกรณีพิเศษ
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า โรคที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ คือโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม รองจากโรคทางเดินหายใจ มี 4 โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคบิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และอุจจาระร่วงเฉียบพลัน สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส จากการประเมินสถานการณ์ในรอบ 9 เดือน ตั้งแต่มกราคม กันยายน 2549 พบผู้ป่วยใกล้เคียงกับปี 2548 มีประมาณ 800,000 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยโรคบิด ไทฟอยด์ และอหิวาตกโรคไม่เพิ่มขึ้น แต่โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมีสัญญาณเพิ่มขึ้นทุกจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม ร้อยละ 20 30 เช่น จังหวัดพิษณุโลก เพิ่มจาก 6,000 รายในปี 2548 เป็น 9,000 รายในปี 2549 ส่วนที่สิงห์บุรีเพิ่มจาก 2,800 ราย เป็น 3,500 รายในช่วงเดียวกัน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต เฉพาะช่วงน้ำท่วมกว่า 1 เดือนนี้พบผู้ป่วยแล้วประมาณ 5,000 ราย
อย่างไรก็ดี โรคเหล่านี้ป้องกันได้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนทางหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และให้ประชาชนกินอาหารสุก งดอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ดื่มน้ำบรรจุขวด ให้ถ่ายอุจจาระลงส้วม หากส้วมใช้การไม่ได้ ให้ถ่ายลงถุงดำเพื่อนำไปกำจัดให้ถูกต้อง ห้ามถ่ายลงน้ำอย่างเด็ดขาด ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุหากถ่ายเหลวเป็นน้ำเกิน 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมงให้รีบไปพบแพทย์ ห้ามซื้อยาแก้ท้องเสียมากินเองอย่างเด็ดขาด เพราะหากท้องเสียจากการติดเชื้อ จะทำให้เชื้อโรคลุกลามรวดเร็ว เป็นอันตรายถึงชีวิต การบรรเทาอาการเบื้องต้นให้ดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวดผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซอง หากไม่มีผงน้ำตาลเกลือแร่ สามารถใช้น้ำอัดลมทั้งชนิดขวดหรือกระป๋อง เปิดขวด เปิดฝาตั้งทิ้งไว้ให้แก๊สหมดไปและเติมเกลือแกงขนาด 1 หยิบมือดื่มแทนได้
ตุลาคม1/5 ***************************** 5 ตุลาคม 2549
View 17
06/10/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ