ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ ที่มากับน้ำท่วม 9 โรคสำคัญเช่นโรคฉี่หนู อหิวาตกโรค อุจจาระร่วง ตาแดง โรคหัด เผยขณะนี้พบบ้างแล้ว แต่ควบคุมได้ทั้งหมด และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาประชาชน จนถึงวันนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1 แสนคน และสำรองยาเพิ่มอีก 300,000 ชุด เพื่อหนุนหน่วยแพทย์บริการเต็มที่ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาพยาบาลประชาชนฟรี ยอดผู้ป่วยสะสมขณะนี้มีทั้งหมด 106,218 คน และแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพน้ำท่วมขังนาน โรคที่พบมากที่สุด ได้แก่ น้ำกัดเท้าผื่นคัน จำนวน 48,180 คนหรือประมาณร้อยละ 45 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาเป็นไข้หวัด 13,000 ราย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 8,200 ราย และมีบาดแผลตามเท้าและมือ 6,180 ราย มีความเครียด 9,840 ราย ส่วนโรคติดต่อ พบโรคตาแดงทั้งหมด 7,950 คน โรคอุจจาระร่วง 4,420 ราย ได้ให้การรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัดทั้งหมด นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วมและหลังน้ำลด เน้นหนัก 9 โรคสำคัญที่เชื้อแพร่มากับน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด ได้แก่ โรคฉี่หนู อหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วง โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง หัด และโรคอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผล รวมทั้งแผลจากน้ำกัดเท้าซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ จากการติดเชื้อโรคฉี่หนูซึ่งเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลได้ ประชาชนควรสวมรองเท้าบู๊ท ป้องกันน้ำถูกแผล อย่าเดินลุยน้ำสกปรก หากจำเป็นต้องลุยน้ำ ขอให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง และให้ทุกจังหวัดจัดหน่วยสุขศึกษาเคลื่อนที่ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัวเองอย่างต่อเนื่อง สำหรับเวชภัณฑ์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ผ่านมาได้จัดส่งยาตำราหลวงแจกประชาชนแล้วเกือบ 80,000ชุด รวมทั้งผงน้ำตาลเกลือแร่ ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ยาหยอดตา รวม 30,000 ชุด ในวันนี้ได้สั่งการองค์การเภสัชกรรมสำรองยาสามัญประจำบ้านเพิ่มอีก 300,000 ชุด ทางด้านนายแพทย์ศิริชัย ลิ้มสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมือง และอำเภอพรหมบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ตั้งศูนย์ประสานงานน้ำท่วมขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีเจ้าหน้าที่ประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการรักษาพยาบาลทุกวัน รวมทั้งดูแลปัญหาด้านจิตใจและเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม วานนี้ มีประชาชนเจ็บป่วยทั้งหมดกว่า 2,600 คน ส่วนใหญ่ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อย และโรคน้ำกัดเท้า ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนเป็นต้นมา มีทั้งหมด 5,268 คน ส่วนสถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายทั้งหมด 11 แห่งในอำเภออินทร์บุรี 8 แห่งและที่อำเภอพรหมบุรี 3 แห่ง โดยเป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 2 แห่ง ที่เหลือเป็นสถานีอนามัย น้ำท่วมชั้นล่างสูงประมาณ 1- 2 เมตร ส่วนชั้นบนยังใช้บริการได้ นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลอินทร์บุรี น้ำท่วมบริเวณถนนทางเข้าโรงพยาบาล ระดับน้ำสูง 1.30 เมตร ต้องใช้รถหกล้อและเรือท้องแบน รับส่งผู้ป่วย ได้ทำแนวกำแพงกั้นรอบบริเวณโรงพยาบาลและต่อสะพานไม้เป็นทางเดินชั่วคราว ตุลาคม1/4 ***************************** 5 ตุลาคม 2549


   
   


View 13    05/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ