สาธารณสุขเผยสถิติโรคพิษสุนัขบ้าขณะนี้ พบได้ตลอดปี ในปี 2550 พบผู้เสียชีวิต 15 ราย ใน 12 จังหวัด ย้ำประชาชนอย่าวางใจแม้จะถูกลูกสุนัขกัด ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคชี้คนไทยมีสารพัดความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูกกัดอย่างน้อย 8 อย่าง เช่น กินตับสุนัขที่กัด รดน้ำมนต์ หรือใช้ยาฉุนยัดแผล ยืนยันไม่สามารถป้องกันได้ การป้องกันหลังกัดมีวิธีเดียวคือต้องฉีดวัคซีน หากปล่อยให้ถึงขั้นป่วยจะไม่มีโอกาสรอดชีวิต เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษา
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกว่าโรคหมาว้อ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าเรบี (Rabies virus) หลังถูกกัดแล้วเชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมอง ทำให้มีอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ โอกาสตาย 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษา ในปี 2550 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 15 ราย ใน 12 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต แนวโน้มจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลงจากปี 2549 ซึ่งมี 26 ราย ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตร้อยละ 92 อยู่ในช่วงอายุ 15-45 ปี ส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขวัย 3 เดือนกัด ในปี 2551 นี้ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า เมื่อคนถูกสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายของสุนัขกระเด็นเข้าแผล หรือเข้าทางรอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก หลังติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน บางรายอาจเกิดอาการหลังถูกกัดเพียง 4 วัน โดยอาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มแรกจะมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ บางคนคันมากจนกลายเป็นแผลอักเสบ ผู้ป่วยชายบางรายอาจหลั่งน้ำอสุจิออกมาโดยไม่รู้ตัว ส่วนผู้ป่วยหญิงอาจพบมีอาการปวดเสียวบริเวณหน้าท้องคล้ายจะมีประจำเดือน ต่อมามีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ คือมีอาการอยากดื่มน้ำ แต่ดื่มแล้วจะสำลัก และแสบหลอดลมอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจึงแสดงอาการกลัวน้ำทุกครั้งที่มีผู้ยื่นขันน้ำหรือแก้วน้ำให้ดื่ม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น ตามักเบิกโพลงบ่อยๆ ชักเกร็ง เป็นอัมพาต และตายในที่สุด ซึ่งอาการดังกล่าวบางครั้งประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต ฉะนั้นประชาชนอย่าชะล่าใจ หลังถูกสุนัขกัดต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า อาการป่วยจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป หากบาดแผลใหญ่ ลึก หรือมีหลายแผล เชื้อมีโอกาสจะเข้าไปได้มาก รวมทั้งตำแหน่งที่ถูกกัด ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อก็จะเข้าสู่สมองได้เร็ว ถ้าน้ำลายของสัตว์ถูกผิวหนังที่ปกติ คือไม่มีรอยข่วนหรือบาดแผล จะไม่มีโอกาสติดโรค และยังขึ้นอยู่กับอายุคนที่ถูกกัด เด็กและคนชราจะมีความต้านทานของโรคต่ำกว่าคนหนุ่มสาว และประการสุดท้ายขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ หากติดเชื้อจากสัตว์ป่าที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอันตรายสูงกว่าสัตว์เลี้ยงตามบ้าน
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประเมินปัญหาของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบว่าสัตว์ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อมากที่สุดร้อยละ 96 คือสุนัข รองลงมาเป็นแมว พบได้ร้อยละ 3 โดยเฉพาะลูกสุนัขทุกอายุ มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกับสุนัขโต เพราะลูกสุนัขได้รับเชื้อจากแม่ที่มีเชื้อผ่านทางรก แต่คนทั่วไปมักมีความเชื่อว่าสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการดุร้าย ตัวแข็ง หางตกเท่านั้น แท้จริงแล้วอาการของสุนัขที่เป็นโรคนี้ มีทั้งแบบซึมและแบบดูร้าย แบบซึมสุนัขจะหลบซุกตัวในมุมมืด ถ้าถูกรบกวน อาจจะกัด ต่อมาจะเป็นอัมพาตแล้วตาย สุนัขบ้าบางตัวอาจแสดงอาการคล้ายกระดูกหรือก้างติดคอ ทำให้เจ้าของเข้าใจผิดพยายามล้วงปากสุนัขเพื่อหาเศษกระดูก ทำให้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าโดยไม่รู้ตัว
นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ขณะนี้จำนวนคนตายจากโรคพิษสุนัขบ้าน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลให้ความสนใจต่อการป้องกันและกำจัดโรคอย่างจริงจัง ประชาชนมีความรู้มากขึ้น วัคซีนมีคุณภาพ มีความปลอดภัยมากขึ้น ราคาถูก อย่างไรก็ตาม มีเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งตายจากโรคนี้ เพราะมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคนี้อย่างน้อย 8 ประการ ได้แก่ 1.เชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะหน้าร้อนเท่านั้น 2.เชื่อว่าเมื่อถูกสุนัขกัด ต้องใช้รองเท้าตบแผล หรือใช้เกลือ ขี้ผึ้งบาล์มหรือยาฉุนยัดในแผล 3.หลังถูกกัดต้องรดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ 4.เมื่อถูกสุนัขกัด ให้ฆ่าสุนัขแล้วนำตับสุนัขมากิน คนก็จะไม่ป่วยเป็นโรคนี้
5.เมื่อถูกสุนัขกัด การตัดหูตัดหางสุนัขจะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า 6.คนท้องไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 7.โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น 8.วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่ เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน ทำให้อัตราตายมี 100 เปอร์เซ็นต์
นายแพทย์ธวัช กล่าวต่ออีกว่า การป้องกันการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุด คือการฉีดวัคซีนหลังถูกกัด ขณะนี้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ามีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็ม ไม่ต้องฉีดทุกวัน ในคนท้องก็ฉีดได้ การฉีดวัคซีนทันทีที่สัมผัสกับโรค จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมา แต่หากไม่ฉีดวัคซีนป้องกัน เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะขึ้นไปทำลายสมอง ไม่มีหนทางใดรักษาได้ ทำให้เสียชีวิตทุกราย
สำหรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง เจ้าของควรนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุตั้งแต่ 2 เดือน แล้วฉีดกระตุ้นอีกครั้งใน 2-3 เดือนต่อมา และฉีดซ้ำทุกปี หรือนำสุนัขเพศเมียไปฉีดยาคุมกำเนิดถ้าไม่ต้องการให้มีลูก และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์ กัด เลีย โดยเฉพาะเด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข หากถูกสุนัขกัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น แล้วรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน
******************************** 21 มีนาคม 2551
View 7
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ