กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้มีหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมเกือบ 6,000 คน เป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงตายเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด ซึ่งพบในกรุงเทพมหานครมากที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงอ้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงมาก แนะป้องกัน ให้ผู้หญิงวัย 20 ปีขึ้นไปควรหาก้อนที่เต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หากพบก้อนผิดปกติ รีบพบแพทย์โอกาสหายขาดมีสูง หากปล่อยก้อนโตขึ้น โอกาสเสียชีวิตมาก วันนี้ (2 ตุลาคม 2549) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงาน “มหกรรมต้านภัยมะเร็งเต้านม” ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 2 -3 ตุลาคม 2549 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และที่ศูนย์มะเร็งส่วนภูมิภาค 6 ศูนย์พร้อมกัน เนื่องจากเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม โดยใช้ริบบิ้นสีชมพูเป็นสัญลักษณ์ เพื่อให้สตรีทั่วโลกตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็งเต้านม ตื่นตัวในการตรวจเต้านมค้นหาก้อนผิดปกติด้วยตนเอง ซึ่งหากตรวจพบเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม การสาธิตวิธีการตรวจหาความผิดปกติของเต้านมด้วยตนเอง การบริการให้คำปรึกษาแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ การแสดงคอนเสิร์ตต้านภัยมะเร็งเต้านมโดยศิลปินแดน-บีม ฟิล์ม-รัฐภูมิ และกิจกรรมเวที ฟรี นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ขณะนี้โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 910,000 ราย เสียชีวิตปีละ 502,000 ราย เฉลี่ยนาทีละประมาณ 1 คน มากที่สุดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบ 1 ใน 8 ของจำนวนประชากรสตรีทั้งประเทศ สำหรับประเทศไทยล่าสุดในปี 2547 มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 5,592 ราย เป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก เฉลี่ยพบได้แสนละ 17 คน โดยมีผู้เสียชีวิตปีละ 1,890 ราย จังหวัดที่พบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมสูงสุดในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พบได้แสนละ 25 คน รองลงมาได้แก่ ลพบุรี สมุทรสาคร และลำปาง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า มะเร็งเต้านมพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สาเหตุที่ทำให้เกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ผู้ชายพบน้อยกว่าผู้หญิง 100 เท่าตัว และมะเร็งชนิดนี้มักเกิดในผู้หญิงเกือบทุกช่วงอายุ โดยพบมากในผู้หญิง ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม รวมทั้งพบในผู้หญิงที่ไม่มีบุตร มีบุตรช้าหลังอายุ 30 ปี มีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 50 ปี ที่สำคัญยังพบว่าหากผู้หญิงที่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงขึ้น ได้แก่ ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง มีไขมันในเลือดสูง หรือ เป็น โรคอ้วน เนื่องจากไขมันคอเลสเตอรอลจะทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งขณะนี้ผู้หญิงในเขตกทม.และเมืองใหญ่ ๆ กำลังมีปัญหาน้ำหนักเกินร้อยละ 40 และผู้หญิงที่ติดเหล้า ซึ่งพบว่าหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ เพิ่มการรับประทานผักสด ผลไม้ให้มากขึ้นให้ได้ครึ่งหนึ่งในแต่ละมื้ออาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ จะสามารถลดความเสี่ยงได้ถึง 1 ใน 3 ทั้งนี้มะเร็งเต้านม สามารถรักษาหายขาดได้ หากค้นพบความผิดปกติเร็ว รักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่เซลล์ยังไม่ลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่น ๆ โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดอัตราตายไม่เกินแสนละ 5.8 โดยให้ทุกจังหวัดรณรงค์ให้ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 หากพบความผิดปกติ จะสามารถให้การรักษาทันและได้ผลเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลสำรวจในปี 2547 พบผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำเพียงร้อยละ 49 เท่านั้น ทางด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน ที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัดก้อนมะเร็งทิ้ง หากพบในระยะเริ่มแรกจะตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก แต่หากเป็นมากก็อาจต้องตัดทั้งเต้านมและให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่เหลือ ป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ ดังนั้นขอแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองโดยใช้มือคลำหาก้อนรอบๆ เต้านมทั้ง 2 ข้างทุกเดือน โดยตรวจหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว 7 วัน เป็นต้นไป ไม่ควรตรวจในช่วงที่มีประจำเดือนเพราะเต้านมจะคัดตึง หากพบก้อนผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดทันที โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 20 – 40 ปีควรไปตรวจเต้านมกับแพทย์อย่างน้อยทุก 3 ปี หากพบก้อนมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาก็จะง่าย ใช้เวลารักษาไม่นาน โอกาสหายสูง และไม่กลับมาเป็นซ้ำ แต่หากคลำพบก้อนแล้วปล่อยทิ้งไว้ หรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน หรือรักษาด้วยสมุนไพร จะทำให้ก้อนมะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะอื่น โอกาสเสียชีวิต มีสูงมาก ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เสียชีวิตร้อยละ 80 มักมาพบแพทย์เมื่อก้อนมะเร็งลุกลามไปแล้ว โอกาสรอดชีวิตจึงมีริบหรี่ ******************************* 2 ตุลาคม 2549


   
   


View 16    02/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ