กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคมือเท้าปากในรอบ 11 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยทั่วประเทศกว่า 7,000 ราย เสียชีวิต 1 ราย เฉพาะแค่ 3 เดือนนี้พบผู้ป่วย 4,600 กว่าราย กว่าร้อยละ 90 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แนะผู้ปกครองช่วยกันปลูกฝังเด็ก ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม หรือภายหลังจับต้องสิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งเครื่องเล่นต่างๆ ในสนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ จะป้องกันการติดเชื้อได้มากถึงร้อยละ 80 และงดใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) ว่า โรคดังกล่าวมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส โดยสถานการณ์โรคในปีนี้น่าห่วง เนื่องจากมีการระบาดแตกต่างจากปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยทั่วไปโรคนี้มักจะพบมากในฤดูฝน แต่ในปีนี้พบว่าโรคมือเท้าปากมีการระบาดต่อเนื่องมาถึงต้นฤดูหนาว นายแพทย์มรกต กล่าวว่า จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา รายงานตลอด 11 เดือนปี 2550 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากทั้งหมด 7,578 ราย เสียชีวิต 1 ราย กว่าร้อยละ 90 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบมากที่สุดในภาคกลาง จำนวน 4,277 ราย รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ 1,490 ราย ภาคใต้ 1,096 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 715 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยในปีนี้มากกว่าในปี 2549 เกือบ 2 เท่าตัว พื้นที่มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 2,567 ราย รองลงมาเป็นจังหวัดสมุทรปราการ 397 ราย ลำปาง 302 ราย นนทบุรี 270 ราย พัทลุง 201 ราย กระบี่ 188 ราย สุราษฎร์ธานี 180 ราย เชียงราย 153 ราย เชียงใหม่และนครสวรรค์ จังหวัดละ 142 ราย ทั้งนี้ พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนตุลาคม จำนวน 2,231 ราย และกันยายน จำนวน 1,944 ราย ในเดือนพฤศจิกายน พบผู้ป่วย 441 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยทั้ง 3 เดือนนี้ คิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่พบทั้งหมด นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังผู้ป่วยและให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค โดยโรคนี้เกิดได้กับคนทุกวัย แต่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อกันโดยรับประทานอาหาร ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป สัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และติดโดยการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของการไอ จาม ของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ การระบาดมักเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มเด็ก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อยู่กันอย่างแออัด และมีฐานะยากจน การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ ต้องล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม หรือสัมผัสของเล่น เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ การล้างมือจะขจัดเชื้อโรคออกไปได้ร้อยละ 80 และหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ของเล่น แก้วน้ำ รวมทั้งห้ามใช้หลอดดูดน้ำร่วมกันด้วย โดยเฉพาะผู้ปกครองและพี่เลี้ยง ควรล้างมือทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนเตรียมอาหารให้เด็ก หากพบเด็กมีตุ่มใสขึ้นที่ปาก มือ หรือเท้า ห้ามซื้อยากินเอง แนะนำให้พาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษา และแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กอื่นประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือเท้าปากเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ลักษณะการเกิดกระจัดกระจาย หรือระบาดเป็นครั้งคราว สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส (Enteroviruses) ซึ่งอยู่ในลำไส้ของคน มีหลายสายพันธุ์ ที่ก่อโรคได้แก่ ค็อกซากี่ไวรัส กลุ่มเอ (Coxsackie virus group A) ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง และชนิดที่อาการรุนแรงคือ เอ็นเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) ภายหลังจากเด็กได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 4-6 วัน จะมีไข้ อ่อนเพลีย ไม่กินนม เบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีตุ่มน้ำใสหรือแผลที่คอ ปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม ตุ่มน้ำใสจะมีขนาดเล็ก ขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ระยะตุ่มน้ำใสนี้เป็นระยะที่ติดต่อได้ง่ายที่สุด จะพบเชื้อไวรัสในตุ่มน้ำใสจำนวนมาก จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำใส เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง แพทย์จะรักษาตามอาการและเฝ้าระวังอาการที่รุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เด็กจะหายได้เองประมาณ 1 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ นายแพทย์ธวัช กล่าวต่ออีกว่า การป้องกัน ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่สาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี สำหรับสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล ต้องมีวิธีกำจัดอุจจาระให้ถูกต้อง พี่เลี้ยงเด็กต้องล้างมือทุกครั้ง หลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนเตรียมอาหาร เมื่อมีเด็กป่วยให้หยุดเรียนและไปพบแพทย์ เด็กที่กำลังป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระน้ำสาธารณะ หรือเล่นกับเด็กอื่นๆ ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกจังหวัด ในการตรวจสอบระดับคลอรีนตกค้างในน้ำประปา รวมถึงสระว่ายน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่ามีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย คือต้องไม่น้อยกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ******************************* 26 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ