กระทรวงสาธารณสุข เผยไม่ได้ปกปิดข่าวการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ขณะนี้พบการระบาดใน 34 จังหวัดและควบคุมโรคได้ ไม่มีรายงานพื้นที่ใหม่เพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 ตุลาคม 2550 พบผู้ป่วย 914 ราย เสียชีวิต 4 ราย ให้จังหวัดควบคุมป้องกันอย่างเข้มงวด แนะประชาชนให้กินอาหารปรุงสุก 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความร้อน หากเป็นอาหารลวก จะต้องลวกในน้ำเดือดนาน 2 นาทีขึ้นไป จะปลอดภัยจากโรคนี้ จากกรณีที่ข่าวอ้างถึงการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในประเทศไทย ที่เริ่มพบผู้ป่วยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 แต่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งมาเปิดเผยเพียงไม่กี่วัน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 20 รายแล้วนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขถือว่า อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อประจำถิ่นที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วและมีผลกระทบสูง ต้องควบคุมป้องกันโรคให้ได้ผลอย่างจริงจัง และรายงานโรคอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง โปร่งใส ไม่ปกปิดข้อมูล สถานการณ์โรคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 จนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2550 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 958 ราย ยืนยันเป็นอหิวาตกโรค 914 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 4 ราย ใน 34 จังหวัด เป็นไทย 691 ราย ต่างชาติ 223 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 581 ราย และค้นหาผู้ป่วยในชุมชนที่ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่มีอาการป่วยอีก 333 ราย จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยมีดังนี้ ตาก 259 ราย (เป็นพม่า 158 ราย) ขอนแก่น 221 ราย ระนอง 179 ราย ภูเก็ต 61 ราย มหาสารคาม 38 ราย กาฬสินธุ์ 26 ราย นครสวรรค์ 22 ราย สกลนคร 21 ราย อุดรธานี 17 ราย กรุงเทพมหานคร 9 ราย ร้อยเอ็ด 9 ราย สมุทรสาคร 7 ราย สงขลา 6 ราย ลำพูน 5 ราย ปัตตานีและชัยภูมิ จังหวัดละ 4 ราย นครพนมและชุมพร จังหวัดละ 3 ราย พังงา นครปฐม นราธิวาสและหนองคาย จังหวัดละ 2 ราย หนองบัวลำภู เลย ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ระยอง นนทบุรี ตรัง สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และเพชรบูรณ์ จังหวัดละ 1 ราย นายแพทย์ธวัชกล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้ประชุมและให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 34 จังหวัด จัดตั้งวอร์รูมเพื่อควบคุมป้องกันโรคทั้งระดับจังหวัด อำเภอ โดยให้เน้น 5 มาตรการหลัก คือ 1.ให้สถานบริการทุกระดับเฝ้าระวังผู้ป่วย หากพบผู้ป่วยที่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ร่วมกับมีภาวะขาดน้ำ ขอให้สงสัยว่าเป็นอหิวาตกโรคไว้ก่อน ให้เก็บอุจจาระส่งตรวจทันที 2.เมื่อมีผู้ป่วย ให้ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วลงตรวจสอบที่หมู่บ้าน ชุมชนของผู้ป่วยทันที เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการเพื่อรักษาโดยเร็ว 3.ให้ปรับปรุงความสะอาดส้วม รณรงค์ทำความสะอาดตลาดสด โรงฆ่าสัตว์ รถเร่ขายอาหาร ร้านอาหาร 4.ให้รักษาระดับของคลอรีนในน้ำประปาในพื้นที่พบผู้ป่วยให้ได้อย่างน้อย 0.5-1 พีพีเอ็ม ส่วนในพื้นที่ที่ยังไม่พบผู้ป่วยให้อยู่ในระดับ 0.2-0.5 พีพีเอ็ม และ 5.รณรงค์ให้ประชาชนดื่มน้ำต้มสุก และล้างมือทุกครั้งหลังออกจากห้องน้ำ ก่อนปรุงอาหารและรับประทานอาหาร โดยต้องปรุงอาหารให้สุกเต็มที่ อาหารค้างมื้อหรืออาหารถุง ต้องอุ่นให้ร้อนจัดก่อนเสมอ “ขณะนี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดอยู่วงจำกัดแล้ว ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในพื้นที่ใหม่ พบเฉพาะในพื้นที่เดิม โดยในวันที่ 29 ตุลาคม 2550 พบผู้ป่วยเพิ่ม 44 รายใน 5 จังหวัด ได้แก่ระนอง 33 ราย สกลนคร 5 ราย ชัยภูมิ 3 ราย นครพนม 2 ราย และปัตตานี 1 ราย” นายแพทย์ธวัชกล่าว นายแพทย์ธวัช กล่าวต่ออีกว่า เชื้อที่พบมี 2 กลุ่ม ได้แก่ เอลธอร์ อินาบา (ELtor Inaba) พบมากที่ จ.ตาก และเชื้อเอลธอร์ โอกาว่า (Eltor Ogawa) พบที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเชื้ออหิวาต์เทียม ไม่รุนแรงเหมือนเชื้ออหิวาตกโรคตัวดั้งเดิม ที่เรียกว่าชนิดคลาสสิก (Classic) จากการสอบสวนผู้ป่วยทุกราย พบว่าเกิดมาจากสาเหตุการกินอาหารที่ปรุงไม่สุก หรือสุกๆดิบๆ ได้แก่ หอยแครงลวก กุ้งพล่า กุ้งเต้น กุ้งแช่น้ำปลา หัวหมูลวก หากกินอาหารที่ปรุงสุก 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะปลอดภัย โดยหากนิยมกินหอยแครงลวก ขอให้ลวกในน้ำเดือดนาน 2 นาทีเป็นอย่างต่ำ หากประชาชนมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ขอให้กินหรือดื่มของเหลวได้แก่ ผงน้ำตาลเกลือแร่โอ อาร์เอส น้ำแกงจืดหรือน้ำข้าวใส่เกลือ ให้มากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ ส่วนเด็กเล็กที่กินนมแม่ ขอให้กินนมแม่มากขึ้น เด็กที่กินนมผสมให้ล้างขวดนมให้สะอาดและต้มในน้ำเดือดนาน 10-15 นาที ให้ผสมนมตามปกติ แล้วให้กินสลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส หากไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์ทันที ****************************************** 31 ตุลาคม 2550


   
   


View 13       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ