บทความสุขภาพ

พิมพ์

ไขคำตอบสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ต้านโควิด-19 ได้หรือไม่


งานวิจัยหลายฉบับยืนยันว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ป้องกันโควิด-19 ได้ แต่จะต้องปฏิบัติควบคู่กับมาตรการทางสุขอนามัย ขณะเดียวกันสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร ยังสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยได้ โดยไม่มีผลข้างเคียง พร้อมพัฒนาเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสในอนาคต

เป็นที่ถกเถียงกันถึงคุณสมบัติของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรว่า ช่วยต้านหรือไม่ต้านโควิด-19 ได้หรือไม่ ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำโดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ซึ่งเคยให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563 ถือโอกาสไขข้อข้องใจในประเด็นต่างๆ เพื่อให้สังคมไทยเข้าใจตรงกันว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจรสามารถรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า เพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ดังนั้นจึงไม่มียาหรือวัคซีนใด ที่จะตอบได้อย่างเต็มปากว่า สามารถรักษาหรือป้องกันได้จริง แต่ จากการทบทวนเอกสารที่มีการศึกษา วิจัยหลายฉบับ ทำให้มั่นใจว่าฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 โดยอภัยภูเบศรได้ส่งมอบเอกสารให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการระบาดระลอกแรก นำไปสู่การใช้รักษาผู้ป่วยรายที่มีอาการน้อย และไม่มีอาการในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอาการน้อยหลังจากได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นทุกราย โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด ส่วนในรายที่ไม่มีอาการ ก็ไม่พบว่ามีอาการภายหลังและปลอดภัยดี

ทางโรงพยาบาลจึงต้องการให้มีการวิจัยฟ้าทะลายโจร เพื่อให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการส่งสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษากลไกในการต้านโควิด-19 ผลพบว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญใน ฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอด โดยผ่านกลไกที่สำคัญก็คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐานในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อ UM โควิด-19 ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Natural Products เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในทางการป้องกันตัวจากโรคนั้น แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐาน ทางวิชาการที่ชัดเจนสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19  แต่ก็มีการศึกษาพบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดต่ำๆ (แอนโดรกราโฟไลด์ 11.2 มิลลิกรัม/วัน) กิน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน จะช่วยป้องกันหวัดได้ โดยนักวิจัยอธิบายว่า น่าจะเกิดจากฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีงานวิจัยที่สนับสนุนอยู่พอสมควร สอดคล้องกับข้อมูลที่เคย ได้รับจากหมอพื้นบ้าน พบว่าในช่วงฤดูหนาวชาวบ้านจะกินสมุนไพร ฟ้าทะลายโจรวันละ 2-3 ใบ

"แต่ถ้าหากสนใจใช้เพื่อให้ออกฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน จะต้องกินในขนาดต่ำๆ ต้องไม่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ตับและไตจะต้องดี และไม่ได้อยู่ระหว่างการกินยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน"

ผู้บุกเบิกและพัฒนาวงการสมุนไพรไทย ยังให้คำแนะนำว่า การฉีดวัคซีนถือเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันที่จำเพาะสำหรับเชื้อโควิด-19 แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรง ช่วยลดภาระของระบบบริการสุขภาพ และแม้ว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลสนับสนุนว่ามีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งที่มีมาแต่กำเนิดและภูมิคุ้มกันจำเพาะ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษากับเชื้อโควิด-19 โดยตรง ประชาชนจึงควรฉีดวัคซีน

"ฟ้าทะลายโจรที่เป็นสารสกัดมีฤทธิ์ดี และปลอดภัยกว่าผงบดหยาบใช่หรือไม่นั้น ไม่จริงเสมอไป ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการผลิตและโรคที่ นำไปใช้ โดยใน Thai Herbal Pharmacopoeia กำหนดไว้ว่า ต้องมีปริมาณแลคโตนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 และแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ซึ่งในมาตรฐานดังกล่าวใช้สำหรับบรรเทาอาการเจ็บคอ และบรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยขนาดที่แนะนำ 1,500-3,000 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน หรือใช้สารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ ประมาณ 60-120 120 มิลลิกรัมต่อวัน ในการบรรเทาอาการเจ็บคอและหวัด"

และที่หลายคนวิตกกังวลว่า สาร 14-deoxy-11 12-didehydroandrographolide (AP 3) ที่พบในผงฟ้าทะลายโจรอาจทำให้ความดันโลหิต ลดลง ตลอดจนแขนขาอ่อนแรงได้นั้น ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ยังไม่เคยเห็นรายงานดังกล่าว แล้วฟ้าทะลายโจรในรูปแบบผงก็อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีการใช้อย่างกว้างขวางในโรงพยาบาล และมีความปลอดภัย

ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรไทยแห่งอภัยภูเบศร ทิ้งท้ายว่า การสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นเกราะสำคัญในการป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่มาตรการเว้นระยะ สวมหน้ากาก ล้างมือ การรับประทานอาหาร เน้นเครื่องเทศ ผัก ผลไม้ พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกาย และสัมผัสแดดในช่วงเช้าหรือเย็น ล้วนแล้วต้องดำเนินการเป็นองค์รวม ต้องผนึกกำลังของเครื่องมือในการดูแลสุขภาพเข้าด้วยกัน

ขอขอบคุณ

สสส.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


จากหน่วยงาน : สำนักสารนิเทศ เปิดดู 3139 view
วันที่ประกาศข่าว : 30 เมษายน 2564 เวลา 11:29 น.