บทความสุขภาพ

พิมพ์

PM 2.5 ระดับสูงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเท่ากับการสูบบุหรี่ 10 มวน


       ในภาวะที่กรุงเทพและภูมิภาคต่าง ๆ ยังมีฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ระดับสูงขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอนในแต่ละวันนั้น  ฝุ่น PM 2.5 กับควันที่ปล่อยออกมาจากการสูบบุหรี่ก็คงไม่แตกต่างกันมากเมื่อพูดถึงผลหรือพิษร้ายของมันเมื่อเราหายใจเข้าสู่ปอด แต่บุหรี่อาจจะส่งผลต่อร่างกายตัวผู้สูบเองและคนรอบข้างได้มากกว่า ควันบุหรี่หลายคนคงรู้ว่ามีสารพิษมากเพียงใด หนำซ้ำอาจจะร้ายยิ่งกว่าหมอกฝุ่นจิ๋วในปัจจุบันก็เป็นไปได้

      จากข้อมูลวิจัยคนที่สูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 1-10 มวน มีโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ราว 12 เท่า และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่า และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า

 

      โดยเฉลี่ยคนกรุงเทพฯ ที่สูบบุหรี่จะสูบวันละ 10 มวน การสูบบุหรี่ 1 มวน เปรียบเทียบกับค่าPM 2.5ที่ผู้สูบจะได้รับ PM 2.5 = 22 มคก./ลบม. เท่ากับว่าคนกรุงเทพฯ ที่สูบบุหรี่ปกติวันละ 10 มวน จะได้รับ PM 2.5 = 220 มคก./ลบม. ซึ่งเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมากที่ได้รับโดยไม่จำเป็น

คนที่สูบบุหรี่ในช่วงที่ภาวะค่าฝุ่น PM2.5 สูงถือได้ว่าทำร้ายตัวเอง 2 เท่า เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ปอดได้รับอันตราย  เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อโรคหลาย ๆ ชนิด  รวมทั้งเป็นสาเหตุหลักของโรคเรื้อรัง ที่รวมถึง โรคถุงลมปอดพอง โรคหัวใจ และเบาหวาน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงและเสียชีวิตก่อนเวลา จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ถือโอกาสนี้เลิกสูบเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ “เท่ห์ได้ไม่พึ่งบุหรี่ เพื่อคนที่คุณรัก เลิกบุหรี่กันเถอะ”

แหล่งข้อมูล : ศาสตราจารย์ประกิต วาทีสาธกกิจ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

                (๒๕๔๑-๒๕๔๘) มหาวิทยาลัยมหิดล และ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

               : กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข   

วันที่         : 30 ธันวาคม 2563



จากหน่วยงาน : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดดู 1130 view
วันที่ประกาศข่าว : 19 มกราคม 2564 เวลา 15:54 น.