บทความสุขภาพ

พิมพ์

นักวิจัยไทยเจ๋ง! พัฒนาวิธีตรวจเหล็กเกินในหัวใจ ไม่แพงไม่ซับซ้อน


นักวิจัยไทยเจ๋ง! พัฒนาวิธีตรวจเหล็กเกินในหัวใจ ไม่แพงไม่ซับซ้อน

 

นักวิจัยมช. พัฒนาวิธีตรวจภาวะเหล็กเกินในหัวใจ มุ่งผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียภาวะโลหิตจางรุนแรง เหตุเป็นกลุ่มมีเหล็กสะสมในร่างกายมาก ซึ่งรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ 2563

หัวใจที่มีปริมาณเหล็กเกินไม่ได้แข็งแรงเหมือนตึกที่เสริมเหล็ก เพราะภาวะเหล็กเกินนั้นทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ และอาจร้ายแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลว หากตรวจวัดภาวะเหล็กเกินได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แพทย์จะให้การรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด แต่อุปสรรคอยู่ที่ผู้มีภาวะเหล็กเกินในหัวใจปริมาณไม่มากมักไม่มีอาการบ่งชี้

ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการพัฒนาวิธีเพื่อตรวจภาวะเหล็กเกินในหัวใจโดยพุ่งเป้าไปที่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีภาวะโลหิตจางรุนแรง เพราะเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยทำให้มีเหล็กสะสมในร่างกายมาก เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับเลือดที่เรียกว่า blood transfusion โดยได้ทำวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างค่าความแปรปรวนของการเต้นของหัวใจ กับภาวะเหล็กเกินในหัวใจในโรคธาลัสซีเมีย” ซึ่งได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ภาวะเหล็กเกินในหัวใจ คือ ภาวะที่มีการสะสมของเหล็กในหัวใจ หากมีการสะสมของเหล็กมากเกินไป จะทำให้การทำงานของหัวใจเกิดความผิดปกติ และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด ซึ่งภาวะเหล็กเกินในร่างกายเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากภาวะผิดปกติทางพันธุกรรรมที่ทำให้กลไกการควบคุมสมดุลของเหล็กในร่างกายเสียไป โดยทำให้เกิดการดูดซึมกลับของเหล็กในทางเดินอาหารที่มากผิดปกติ หรืออีกสาเหตุเกิดจากภาวะที่มีการแตกของเม็ดเลือดแดงแบบเรื้อรัง รวมถึงภาวะโลหิตจางจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย อีกทั้งยังพบได้ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคโลหิตจางแบบไม่ใช่โรคพันธุกรรม หรือการได้เหล็กเสริมทางเลือดมากเกินไปแต่กรณีหลังนี้เป็นสาเหตุที่พบไม่บ่อย

ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร

อาการของผู้ที่มีภาวะเหล็กเกินในหัวใจนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเหล็กที่สะสมอยู่ในหัวใจ แต่ ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ให้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้วอาการทั่วไปมักไม่สามารถบ่งบอกได้ หากเหล็กยังสะสมอยู่ไม่มาก แต่ถ้ามีการสะสมของเหล็กสูงมากแล้วมักจะทำให้เกิดการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถให้การรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งในปัจจุบันวิธีวินิจฉัยภาวะเหล็กเกินในหัวใจที่ดีที่สุดคือการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Cardiac MRI T2* และถือเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจวัดการมีเหล็กสะสมในหัวใจ

ทว่า ทีมวิจัยที่นำโดย ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. นพ.นิพนธ์ ได้พยายามหาวิธีตรวจอื่นมาแทนการตรวจด้วยเครื่อง MRI เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวมีราคาแพง และมีอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น อีกทั้งวิธีการตรวจก็ซับซ้อนและต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านและแปลผล และมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้การรับการตรวจด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ยาก นอกจากนี้ความพยายามในการหาวิธีตรวจแบบอื่นนั้น ยังมีเป้าหมายเพื่อตรวจภาวะเหล็กเกินในหัวใจได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ด้วย ทีมวิจัยจึงพยายามศึกษาว่า ค่าความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ จะสามารถใช้ในการบอกภาวะเหล็กสะสมเกินในหัวใจได้หรือไม่

“ค่าความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ หมายถึง ค่าที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราเร็วในการเต้นของหัวใจในแต่ละช่วงเวลา หรือถ้าให้ละเอียดก็คือ การเปลี่ยนแปลงของอัตราเร็วในการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้งของการเต้นหัวใจนั่นเอง โดยที่ปกติแล้วอัตราเร็วของการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง จะมีความแปรปรวนอยู่เสมอ ไม่ได้คงที่ในคนปกติ แต่ถ้าค่าความแปรปรวนนี้ลดลง ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตาม ก็อาจบอกถึงพยาธิสภาพในหัวใจบางอย่างได้” ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. นพ.นิพนธ์อธิบาย

จากการศึกษาทีมวิจัยพบว่าค่าความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจนั้น มีความสัมพันธ์กับภาวะเหล็กเกินในหัวใจ และยังสามารถพบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในระยะต้น ๆ ของการมีเหล็กสะสมในหัวใจที่ยังมีปริมาณไม่มาก จึงเป็นไปได้ว่า การวัดค่าความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการบอกการสะสมของเหล็กที่มากเกินในหัวใจได้ แต่เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ ยังเป็นข้อมูลที่ได้มาจาก

การวิจัยในระดับเซลล์หรือในสัตว์ทดลอง จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไปในผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กเกินในหัวใจ ก่อนที่จะนำไปประยุกต์ใช้จริงในผู้ป่วยในอนาคต

ขอขอบคุณ

Wed, 2020-11-25 20:00 -- hfocus team


จากหน่วยงาน : สำนักสารนิเทศ เปิดดู 399 view
วันที่ประกาศข่าว : 19 มกราคม 2564 เวลา 14:09 น.