บทความสุขภาพ

พิมพ์

กรมอนามัย แนะนำวิธีทำความสะอาดบ้านกำจัดเชื้อราหลังน้ำลด


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีทำความสะอาดบ้านกำจัดเชื้อราหลังน้ำลด ย้ำก่อนเข้า ทำความสะอาดต้องตรวจระบบไฟฟ้า และต้องสวมหน้ากาก ถุงมือยาง และรองเท้าบูททุกครั้ง หลังทำความสะอาดควรอาบน้ำทันที เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยดี

        นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้   ในขณะนี้บางพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ประชาชนเริ่มกลับเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือน ที่พักอาศัย เก็บกวาดสิ่งสกปรกต่าง ๆ เพื่อให้สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้อย่างปลอดภัย โดยในช่วงน้ำท่วมน้ำจะพัดพาสิ่งสกปรกมาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะ วัสดุ สิ่งของต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ จึงต้องล้างบ้านให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล เพราะหากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นแหล่งสะสมและ  แพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งก่อนเข้าไปในบ้านต้องสำรวจตรวจสอบความเสียหาย การรั่วของกระแสไฟฟ้าหากไม่แน่ใจให้รีบปรึกษาจากช่างไฟฟ้าเสียก่อน หลังจากนั้นให้เปิดประตู หน้าต่างทิ้งไว้ เพื่อให้อากาศและลมถ่ายเทเอาความชื้นออกไป ตรวจสอบความแข็งแรงของบ้าน เช่น ประตู หน้าต่าง และเพดาน เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างของบ้านมีความมั่นคงแข็งแรง ส่วนเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคด้วยการนำไปตากแดด

        นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การกำจัดเชื้อราในบ้านที่เกิดจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เช่น เชื้อราบนเฟอร์นิเจอร์ไม้ เพดาน ผนังบ้าน หรือบริเวณพื้นผิววัสดุที่ขึ้นรามีสภาพแห้ง และรามีลักษณะฟูเห็นเส้นใยโผล่ออกมา ทำได้ 3 ขั้นตอน คือ 1) พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อรา ให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนา ขนาดใหญ่หรือ กระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำพอชื้น ๆ เช็ดบนพื้นผิวนั้นไปในทางเดียวกัน กระดาษที่ใช้แล้วนั้นต้องรวบรวมใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่น นำไปทิ้งในถังขยะที่ปิดมิดชิด 2) ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาขนาดใหญ่หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำที่ผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดเดิมอีกครั้ง และ 3) ขั้นตอนสุดท้าย ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5-7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อรา

        “สำหรับเชื้อราบนที่นอนหรือฟูกที่มีร่องรอยหรือกลิ่นอับชื้น ให้กำจัดเชื้อราโดยเริ่มจาก 1) ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อฉีดพรมให้ทั่วที่นอนหรือใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลผสมน้ำอุ่น เช็ดร่องรอยเชื้อราบนที่นอน 2) นำที่นอนไปตากแดดจัด ๆ 3) เมื่อที่นอนแห้งสนิท ให้ดูดฝุ่นที่นอนทั้ง 2 ด้านอีกครั้ง และ 4) หากพบร่องรอยเชื้อราจำนวนมากจนยากกำจัดได้  ไม่ควรนำที่นอนหรือฟูกดังกล่าวมาใช้  โดยก่อนทำความสะอาดบ้านและ     กำจัดเชื้อราต้องสวมหน้ากาก ถุงมือยาง และรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้ หลังจากล้างทำความสะอาดบ้านและกำจัดเชื้อรา ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทันทีเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ /  9 ธันวาคม 2563

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย

อ้างอิง - https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/091263-01/?fbclid=IwAR2ZNXslQ2UqtAJb3MMIzMADoABcn9RbCOX4I7Be-vcP2WQO842FmxIJVgk

 

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ เปิดดู 350 view
วันที่ประกาศข่าว : 14 ธันวาคม 2563 เวลา 15:53 น.