บทความสุขภาพ

พิมพ์

ทิชชูเปียก/ผลิตภัณฑ์ล้างจาน/ผงซักฟอก/น้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชูใช้ฆ่าเชื้อโควิด-19ได้จริงหรือ ?


  เชื้อโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนา2019 เป็นโรคระบาดใหม่ที่อุบัติขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว และจากข้อมูล (เมษายน 2563) พบว่าไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อทางละอองฝอยของสารคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำลาย สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ อีกทั้งละอองฝอยเหล่านี้สามารถอยู่บนพื้นผิววัตถุได้หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน
ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม หากสัมผัสละอองฝอยที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัตถุก็อาจเป็นช่องทางการรับสัมผัสหนึ่งที่ทำให้ติดเชื้อโควิด-19ได้เช่นกัน  

        การทำความสะอาดพื้นผิววัตถุเป็นประจำสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ จึงเกิด

คำถามว่าถ้าหากทำความสะอาดพื้นผิวด้วยทิชชูเปียก/ผลิตภัณฑ์ล้างจาน/ผงซักฟอก/น้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชู จะสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ จริงหรือไม่ คำตอบคือ ไม่จริง

        สำหรับ “ทิชชูเปียก” อาจมีส่วนผสมของสารฆ่าเชื้อแต่ไม่ทราบชนิดหรือความเข้มข้นของสารฆ่าเชื้อ
ที่แน่ชัด อีกทั้งไม่มีการศึกษาที่ยืนยันว่าทิชชูเปียกมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

       “ผลิตภัณฑ์ล้างจาน และผงซักฟอก” จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด(Detergent) สำหรับ
ขจัดสิ่งสกปรก รวมทั้งเชื้อโรคออกจากพื้นผิววัตถุ จึงเป็นเพียงการลดจำนวนเชื้อและความเสี่ยงในการ
แพร่กระจายเชื้อเท่านั้น แต่ไม่ได้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส

       “น้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชู” น้ำส้มสายชูสำหรับปรุงอาหารมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ไม่ใช่สารฆ่าเชื้อโดยตรง
จึงไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโควิด-19

       ดังนั้นไม่แนะนำให้ใช้ ทิชชูเปียก/ผลิตภัณฑ์ล้างจาน/ผงซักฟอก/น้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชู เพื่อหวังผล
ฆ่าเชื้อโควิด-19

       Centers for Disease Control and Prevention (CDC) สหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่าหากพื้นผิวสกปรกควรทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด(Detergent)ก่อนฆ่าเชื้อด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ(Disinfectant)ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น Sodium hypochlorite, Ethyl alcohol

       แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสในสัดส่วนที่เหมาะสม และปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะความเข้มข้น วิธีการใช้งาน รวมทั้งระยะเวลาทิ้งให้ผลิตภัณฑ์สัมผัสพื้นผิว
และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)        

สนับสนุนโดย : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ เปิดดู 1059 view
วันที่ประกาศข่าว : 9 ตุลาคม 2563 เวลา 15:33 น.