บทความสุขภาพ

พิมพ์

'การสาธารณสุขไทย' ก้าวสู่ศตวรรษที่สอง พัฒนาการแพทย์-สร้างสรรค์ เพื่อสุขภาพของประชาชน


   เข้าสู่ศตวรรษที่สองแล้วสำหรับ การสาธารณสุขไทย ซึ่งโครงสร้าง การบริหารจัดการงานสาธารณสุขมี การเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริให้รวมหน่วยงานต่างๆ ที่แยกย้ายกันอยู่ ให้เป็นแผนกเดียวกัน โดยการก่อตั้ง กรมสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงมหาดไทยขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2461โดยมี สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นอธิบดีคนแรก
      กรมสาธารณสุขอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาจนกระทั่งได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใน พ.ศ.2485 ซึ่งระยะแรกนั้น ได้ดำเนินกิจการด้านการสาธารณสุขโดย ยึดหลัก "ป้องกันถูกกว่าการแก้" มุ่งเน้นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขอนามัย ของประชาชน ขณะที่ทางภาครัฐซึ่งเป็นช่วงสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2487) ก็มีนโยบาย "สร้างชาติ"เพิ่มจำนวนประชากรและทำให้พลเมืองไทยแข็งแรง เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นมหาอำนาจตามแนวคิดของผู้นำประเทศ
          ภารกิจของกรมสาธารณสุขจึงเพิ่ม มากขึ้นตามกาลเวลา ทำให้หน่วยงานต่างๆ มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ โดยความร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการผลิตแพทย์ให้ได้มาตรฐานการศึกษาของสหรัฐอเมริกา มีการสร้างโรงพยาบาลศิริราชใหม่ จัดหาอุปกรณ์การเรียนและการรักษาพยาบาล รวมทั้ง ส่งอาจารย์ไปเรียนต่อในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงหลักสูตรพยาบาลและจัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ และพยาบาลขึ้น เพื่อผลิตบุคลากร ด้านการพยาบาล โดยในยุคเริ่มแรกนี้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ได้ตั้งอยู่ในเมืองหลวง มีโรงพยาบาลตามหัวเมืองใหญ่ๆ ก่อนที่จะมีการขยายความเจริญไปสู่หัวเมืองท้องถิ่นตามประกาศพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2477 ที่ให้กรมสาธารณสุขสร้าง โรงพยาบาลขึ้นทั่วทุกจังหวัด
        ขยายและพัฒนาบริการสุขภาพในระดับอำเภอและตำบล เช่น มีการพัฒนา"สถานีอนามัย" "ศูนย์สุขภาพชุมชน"ยกระดับสถานีอนามัยและศูนย์สุขภาพชุมชนขึ้นเป็น "โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล" พัฒนาด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อ มีโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้านการรักษาพยาบาลใน พ.ศ. 2518 การเกิดขึ้นของระบบการประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน พ.ศ. 2545 ที่ให้สิทธิการ รักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนไทยทุกคน
     จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ระบบสาธารณสุขไทย มีพัฒนาการภายใต้บริบทใหม่ๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ผนวกกับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมสูงวัย ปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ปัญหาภัยพิบัติ รวมทั้งผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ ที่มีต่อสุขภาพ ล้วนแต่เป็นความท้าทาย ที่ต้องเผชิญในการก้าวสู่ศตวรรษที่สอง ของการสาธารณสุขไทย
      ในโอกาสที่ก้าวเข้าวาระ 100 ปีของ การสาธารณสุขไทย สธ. จึงได้จัดงาน "ครบรอบการสถาปนากรมสาธารณสุข" ขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและเพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับพระมหา กรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกันนี้ทรงเปิดอาคาร 100 ปี สธ. และอาคารพิพิธภัณฑ์ การสาธารณสุขและการแพทย์ไทย และ ทรงปลูกต้นการบูรที่พระราชทานให้เป็นต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เฝ้ารับเสด็จฯ
          สำหรับ "อาคาร 100 ปี สธ." เป็นโครงการพัฒนาอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ได้จัดห้องแสดงวัตถุสำคัญ วัตถุโบราณ ตลอดจนภาพบุคคล ภาพกิจกรรมที่สำคัญในอดีตที่ บ่งบอกถึงพัฒนาการของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานนั้นๆ รวมทั้งมีนิทรรศการที่สะท้อนประวัติศาสตร์การพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไทยที่ทำให้ประชาชนมีชีวิต ที่ดีขึ้น มีโครงการเกี่ยวเนื่องกับพระราชวงศ์/พระราชดำริ รวมถึงความท้าทายของงานสาธารณสุขในอนาคต
          ขณะที่ พิพิธภัณฑ์กลางของ สธ. ในชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์ไทย" ที่จัดตั้งขึ้น ณ อาคารพิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์ แผนไทย (เรือนหมอเพ็ญนภา) ได้มีการ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อันทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการดูแลสุขภาพ โดยภายในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงนิทรรศการไว้ทั้งหมด 11 ห้อง ประกอบด้วย หอพระ หออบรมครูแพทย์แผนไทย เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย นวดไทย ผดุงครรภ์ไทย พิพิธภัณฑ์หมุนเวียน "วิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น" พิพิธภัณฑ์ถาวร "ห้องอุปการพัฒนกิจ"ห้อง 100 ปี การสาธารณสุขไทยพุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทย และห้องพระบิดา แห่งการแพทย์แผนไทย โดยสามารถเข้าชมได้ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (เว้นวันหยุดราชการ)
          นับเป็น 100 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลง ที่เรียกได้ว่าปรับปรุงประสิทธิภาพการ ปฏิบัติราชการโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน นำนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อมอบความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้แก่คนไทย และยังคงพัฒนางานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดีต่อไป


จากหน่วยงาน : สำนักสารนิเทศ เปิดดู 2179 view
วันที่ประกาศข่าว : 12 ธันวาคม 2561 เวลา 10:09 น.