บทความสุขภาพ

พิมพ์

25 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ


                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลกที่ได้รับการทูลเกล้าถวายเหรียญทอง ICCIDD (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders) จากสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540 ด้วยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยในการวินิจฉัยปัญหาและพระราชทานแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนให้ลดน้อยลงจนอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

         เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 รัฐบาลไทยจึงกำหนดให้วันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันไอโอดีนแห่งชาติ

        นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “ไอโอดีน”เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเพราะสารไอโอดีนมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองของทารกตั้งแต่ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์จนถึงอายุ 2-3 ขวบ ทารกในครรภ์ได้รับไทรอยด์ฮอร์โมน(สร้างจากสารไอโอดีน)จากมารดาในการเพิ่มจำนวนและขนาดของเซลล์สมอง  มีความต้องการในการสร้างโครงข่ายใยประสาทซึ่งการสร้างเหล่านี้จะเกิดต่อเนื่องไปจนถึงระยะ 2-3 ขวบ ถือเป็นช่วงวัยทองของการพัฒนาสติปัญญาและไอคิวของเด็กไทย

      โดยปกติแล้วเด็กวัยรุ่น-ผู้ใหญ่ต้องการไอโอดีนประมาณวันละ 150 ไมโครกรัม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ต้องการประมาณวันละ 250 ไมโครกรัม เนื่องจากใช้ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของลูก และมีการขับออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ร่างกายคนเราไม่สามารถสะสมไอโอดีนไว้ได้          จึงต้องการไอโอดีนทุกวันในปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่ต้องได้รับอย่างสม่ำเสมอ

          การขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์จะแสดงผลร้ายอย่างชัดเจนต่อทารก อาจจะมีความเสี่ยงต่อการแท้ง หรือในบางรายอาจมีการพิการแต่กำเนิด เช่น หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกร็น       เติบโตช้า เรียนรู้ช้า เฉื่อยชา ไอคิวต่ำกว่าปกติ 10-15 จุด สติปัญญาเสื่อมจนถึงปัญญาอ่อนหรือที่เรียกว่าเป็น เอ๋อในขณะที่การขาดสารไอโอดีนในผู้ใหญ่นั้นจะส่งผลให้เกิดภาวะไทรอยด์ต่ำ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา ประสิทธิภาพการทำงานลดลงทุกระบบ

      อธิบดีกรมอนามัย กล่าวและย้ำว่า เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนคนไทยทุกกลุ่มวัยจึงควรเลือกใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่เสริมไอโอดีนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับการกินอาหารที่มีไอโอดีนตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอาหารทะเลซึ่งจะช่วยให้ไม่ขาดสารไอโอดีน ตัวอย่างอาหารที่มีไอโอดีน เช่น แกงเหลืองปลากะพง 1 ถ้วย ได้ไอโอดีนประมาณ 52 ไมโครกรัม ไข่ต้ม 1 ฟอง           ได้ไอโอดีนประมาณ 50 ไมโครกรัม หรือแซนวิชทูน่า 1 ชิ้น กับนมสดรสจืด 1 แก้วได้ไอโอดีนประมาณ                60 ไมโครกรัม แกงจืดใส่สาหร่ายทะเลได้ไอโอดีนประมาณ 75 ไมโครกรัม เป็นต้น

          ส่วนผู้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งความต้องการไอโอดีนที่มากกว่าคนปกติ นอกจากการบริโภคอาหารที่มีไอโอดีนเหมือนกลุ่มวัยอื่นทั่วไปแล้ว หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องกินยาวิตามินเสริมไอโอดีน ซึ่งมีไอโอดีน 150 กรัม วันละ      1 เม็ดด้วยทุกวันจนคลอด และช่วงที่ให้นมลูกติดต่ออย่างสม่ำเสมอจนถึง 6 เดือนเพื่อลดปัญหาการขาดสารไอโอดีน

 

          “กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการดำเนินงานเพื่อขจัดโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และร่วมกันขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนเป็นประจำทุกปีแล้วยังได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนผ่านชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนด้วยปัจจุบันมีชุมชนหมู่บ้านไอโอดีนผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว 58,307 ชุมชน/หมู่บ้าน มีการพัฒนาระบบควบคุมการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน และพัฒนาเครื่องผสมเกลือไอโอดีนทำให้ผลิตเกลือมีคุณภาพมากขึ้นร้อยละ 91.6 จำหน่ายเกลือ  ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 72.8 ส่งผลให้ครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 69.4

          ทั้งนี้ ในปี 2559 ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ประเมินระดับไอโอดีนในปัสสาวะพบว่ากลุ่มเด็กวัยเรียนและผู้สูงอายุมีระดับไอโอดีนที่เพียงพอ ขณะที่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ยังมีระดับไอโอดีนต่ำกว่าเกณฑ์ปกติเล็กน้อย จึงต้องดำเนินนโยบายเสริมยาเม็ดไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยรู้จักเกลือเสริมไอโอดีนเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่าประชาชน 9 คน ใน 10 คน รู้จักเกลือเสริมไอโอดีน          จึงจำเป็นต้องเพิ่มความรอบรู้ในการเลือกใช้ไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไป พร้อมทั้งศึกษาวิจัยในประเด็น  ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนหลายเรื่องเพื่อให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มวัยทุกพื้นที่ได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอ”

          นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานในระดับชุมชน กระทรวงสาธารณสุข     โดยกรมอนามัยยังมีแผนการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ด้วยการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 อันจะนำไปสู่การที่ประชาชนในท้องถิ่นจะร่วมเป็นเจ้าของการดำเนินงาน เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและของชุมชนหรือหมู่บ้านตนเองแบบประชารัฐตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างแท้จริง


จากหน่วยงาน : ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย เปิดดู 2215 view
วันที่ประกาศข่าว : 21 มิถุนายน 2561 เวลา 15:36 น.