บทความสุขภาพ

พิมพ์

น้อมนำคำสอน"ในหลวงร.9"....สู่วงการแพทย์และสาธารณสุข


        ะยะเวลา 1 ปีแห่งการสวรรคต บุคลากรและหน่วยงานอันเกี่ยวเนื่องกับการแพทย์และสาธารณสุขได้น้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสของพระองค์ท่าน มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

      13 ตุลาคม 2560 วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตลอดระยะเวลา 1 ปีแห่งการสวรรคต บุคลากรและหน่วยงานอันเกี่ยวเนื่องกับการแพทย์และสาธารณสุขได้น้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสของพระองค์ท่าน มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน “สานต่อที่พ่อสอน” สืบสานพระราชปณิธานให้ยั่งยืนต่อไป

     กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ดำเนินโครงการ "เรียนรู้ตามแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อส่งเสริมค่านิยมองค์กรของกระทรวงสาธารณสุข” โดยน้อมนำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ใน 4 เรื่องมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของบุคลากรและการดำเนินงาน ประกอบด้วย 

  “ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว ว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ” พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2513 

     “...การพยายามศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยี อันก้าวหน้าทุกสาขาจากทั่วโลก แล้วเลือกสรรส่วนที่สำคัญเป็นประโยชน์ นามาปรับปรุงใช้ให้พอดีพอเหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศเรา เพื่อช่วยให้ประเทศของเราสามารถนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้พัฒนางานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลือง...” พระบรมราโชวาทในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานพระจอมเกล้าลาดกระบังนิทรรศน์ 26 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วันที่ 16 มิถุนายน 2526 

  “ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท” พระราชดำรัสแก่ทันตแพทย์สี สิริสิงห์ ทันตแพทย์ประจำพระองค์ 

     “ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 มิถุนายน 2496 


     ทั้งหมดนี้ สธ.ได้นำมาแปลงเป็นค่านิยมองค์กรภายใต้คำว่า “MOPH” ดังนี้  M : Mastery เป็นนายตนเอง บุคลากรต้องมีภาวะผู้นำ เป็นผู้นำที่ดี เอาชนะโลภ โกรธ หลงให้ได้ O : Originality เร่งสร้างสิ่งใหม่ ทั้งนโยบาย นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน P : People centered approach ใส่ใจประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน และ H : Humility ถ่อมตนอ่อนน้อม โดยการปฏิบัติตัว และใช้คำพูดที่ดี เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ

    “ค่านิยมทั้ง 4 ข้อเป็นไปตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หากบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศมีค่านิยม MOPH ตามพระราชดำรัส น้อมนำไปปฏิบัติและยึดเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อประชาชน ตามรอยพระบาทพระองค์ท่าน เริ่มทำจากตัวเอง ทำจนติดเป็นนิสัย ปลูกฝังในจิตวิญญาณ จะสามารถขับเคลื่อนงานต่างๆ ไปถึงเป้าหมาย ประชาชน สุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืนต่อไป” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

      โดยส่วนตัว ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล เคยให้สัมภาษณ์ว่า น้อมนำพระบรมราโชวาทมายึดปฏิบัติหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือ พรปีใหม่ 2540 พระราชทานว่า“พรุ่งของวาน เรามุ่งดี ไม่หมกมุ่น วานของพรุ่ง เราเพียรดี ไม่เกียจคร้าน พรุ่งทั้งวานก็ย่อมดี มีสุขสันต์” ซึ่งหมายถึงให้คนเราทำดี มุ่งดี เพียรดีและอยู่กับปัจจุบัน 

       มิเพียงเท่านี้ กระทรวงสาธารณสุขได้น้อมนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนา “โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา”  ในทศวรรษที่ 2 ระหว่างปี 2560-2569​ ซึ่งตั้งเป้าพัฒนาโรงพยาบาลให้มีอัตลักษณ์เดียวกัน คือ เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล

     มีแนวทางการพัฒนา 4 ข้อสำคัญ 1.น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2.พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ คือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย การจัดระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาคน และระบบบริหารจัดการที่มีคุณธรรม 3.ออกแบบสถาปัตยกรรมและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลให้ร่มรื่น สะอาด เพื่อบริการแก่ประชาชน และ 4.พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงพยาบาล รวมทั้งสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของชุมชนในพื้นที่และมูลนิธิของโรงพยาบาล

     ปัจจุบัน โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาทั่วประเทศมี 10 แห่ง ได้แก่ รพ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ รพ.เบญจลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ รพ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู รพ.เขาชะเมา จ.ระยอง รพ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา รพ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี รพ.ยี่งอ จ.นราธิวาส รพ.วัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี และ รพ.หาดสำราญ จ.ตรัง

   ส่วนของการปฏิบัติตนของบุคลากรทางการแพทย์โดยทั่วไป ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2550-2554 และหัวหน้าคณะแพทย์ผู้ถวายงานครั้งที่ประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงเวลาดังกล่าว เล่าว่า วันหนึ่งที่ตนและคณะแพทย์เข้าเฝ้าฯ ประมาณ 3-4 คน ช่วงนั้นทรงทราบว่ามีปัญหาคนไข้ฟ้องแพทย์มากขึ้น รับสั่งว่า “ให้พวกเราอ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดีอย่าไปดูถูกใคร ให้เกียรติต่อทุกคน ไมตรีจิตก็จะเกิดขึ้น” ก็ได้น้อมนำมาถ่ายทอดต่อบุคลากรศิริราช บุคลากรทางการแพทย์และทุกคน เพื่อให้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ 

     ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า“ถ้าคิดว่าดี ทำต่อไป” เป็นรับสั่งที่สั้นและตนได้น้อมนำมาใช้ในชีวิต โดยเมื่อทำกิจการงานใดแล้วเจอปัญหา ก็จะรีบเร่งหาทางแก้ปัญหาด้วยความเพียรเหมือนพระมหาชนกและด้วยสติ แล้วทำต่อไป 

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวอีกว่า พระองค์ท่านเคยรับสั่งไว้ครั้งหนึ่งว่า “สุขภาพพลเรือนเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าพลเรือนมีสุขภาพที่เสื่อมโทรมประเทศชาติก็พัฒนาไม่ได้” ดังนั้นหน้าที่ของศิริราชคือดูแลสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาส ตราบใดที่ศิริราชยังอยู่คู่แผ่นดินไทย ยืนยันว่าพระราชปณิธานตั้งแต่รัชกาลที่ 5 สืบทอดมายังรัชกาลที่ 9 จะสืบทอดต่อไปไม่เลือนหายไปจากสังคมไทย

      ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาหนึ่งในกิจกรรมที่ศิริราชดำเนินการ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ การระดมทุนเพื่อใช้ในการก่อสร้าง “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” เช่น การจัดกิจกรรม  “1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต” เชียงใหม่ - ศิริราช ซึ่งอาคารนี้เป็นโครงการสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามแก่ รพ.ศิริราช โดยจะเป็นอาคารรวมผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 5,000 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 2,000 ล้านบาท จะมีความสูง 25 ชั้น มีจำนวนเตียงผู้ป่วย 355 เตียง มีศูนย์ความเป็นเลิศ 14 ศูนย์ ห้องไอซียู 62 ห้อง โดยไม่มีห้องพิเศษ

 

      “...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดีและสังคมที่มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้นโดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือเป็นผู้แต่งสร้างมิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2522

                                                             น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ธ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ 


จากหน่วยงาน : เว็บไซต์คมชัดลึก(14 ต.ค.60) เปิดดู 6141 view
วันที่ประกาศข่าว : 15 ตุลาคม 2560 เวลา 12:44 น.