ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

สธ.สรุปผลดูแลรักษาผู้บาดเจ็บเพลิงไหม้บ่อนปอยเปต พัฒนาการดำเนินงานร่วมสองประเทศ


      ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ข้อมูลการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้บ่อนปอยเปต ให้การรักษา 35 ราย ส่วนใหญ่มีอาการสำลักควัน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 12 ราย รักษาหายทุกราย คงเหลือผู้บาดเจ็บรักษา 7 ราย เป็นกลุ่มสีเหลือง 4 ราย และสีเขียว 3 ราย มีผู้เสียชีวิตในกัมพูชา 25 ราย และในไทย 1 ราย นำผลถอดบทเรียน 4 ข้อ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานร่วมสองประเทศ

     วันนี้ (8 มกราคม 2566) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้โรงแรมแกรนด์ไดมอนด์ ซิตี้ แอนด์ คาสิโน ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ว่า ได้รับรายงานจาก นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ว่ามีการปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เพื่อตอบโต้สถานการณ์แล้ว พร้อมทั้งสรุปข้อมูลการปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565 - 5 มกราคม 2566 โดยมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 115 ราย เป็นเพศชาย 57% เพศหญิง 43% ให้การรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 35 ราย อยู่ในช่วงอายุ 15-29 ปี มากที่สุด 20 ราย อายุ 30-44 ปี 9 ราย อายุ 45 – 59 ปี 2 ราย และอายุ 60 ปีขึ้นไป 5 ราย อาการที่เข้ารับการรักษา คือ ทางเดินหายใจ (สำสักควัน) 76% อาการทางกระดูก 12% และแผลไฟไหม้ (Burn) ระดับ 1 อีก 12% โดยมีผู้บาดเจ็บที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากสำลักควัน 12 ราย ทั้งนี้ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันแรกที่รับผู้บาดเจ็บ เป็นผู้ป่วยอาการหนักสีแดง 10 ราย ปานกลางสีเหลือง 9 ราย และเล็กน้อยสีเขียว 16 ราย ส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งในจังหวัดสระแก้ว และใกล้เคียง ก่อนส่งต่อรักษาตามภูมิลำเนา ได้แก่ สระแก้ว 6 ราย กรุงเทพมหานคร 5 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย สกลนคร 2 ราย และจังหวัดอื่น ๆ อีก 12 จังหวัดๆ ละ 1 ราย ไม่ทราบที่อยู่ 8 ราย ทุกรายมีแนวโน้มอาการดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันคงเหลือผู้บาดเจ็บสีเหลือง 4 ราย และสีเขียว 3 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตที่ประเทศกัมพูชามี 25 ราย เป็นคนไทย 19 ราย เนปาล 1 ราย ยังไม่ทราบสัญชาติ 5 ราย รักษาแล้วเสียชีวิตที่ประเทศไทย 1 ราย และยังมีผู้สูญหายรอการพิสูจน์ 4 ราย ศพรอพิสูจน์ที่ประเทศกัมพูชาอีก 5 ราย

      นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า หลังปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วได้มีการประชุมสรุปผลการดำเนินงาน ทบทวนปัญหาอุปสรรค และถอดบทเรียนการปฏิบัติการ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีแนวทางการพัฒนา คือ 1.ทบทวนแผนโครงสร้างสายบัญชาการ และสายปฏิบัติการให้เป็นปัจจุบัน ทั้งจังหวัดสระแก้วและจังหวัดคู่แฝดในประเทศกัมพูชา 2.ให้มีการซ้อมแผนเตรียมความพร้อม อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี 3.ให้มีการติดตามข้อมูลผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากฝั่งประเทศกัมพูชา และ 4.สร้างระบบ Twin City และ Twin Hospital ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา

********************************************* 8 มกราคม 2566

 

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 999 view
วันที่ประกาศข่าว : 8 มกราคม 2566 เวลา 14:17 น.