ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

คกก. โรคติดต่อแห่งชาติ หารือแผนดำเนินงานเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น


          คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ หารือแผนการดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น เตรียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะ Post-pandemic ให้ทุกจังหวัดทำแผนปฏิบัติการรองรับตามมาตรการ “2U 3 พอ” พร้อมเห็นชอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 – 2567 และโครงการป้องกันและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางแสวงบุญ

          วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมประชุม

         นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือแผนดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น และเตรียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะ Post-pandemic เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน อาทิ สเปน อินเดีย รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น และภาพรวมขณะนี้ได้เข้าสู่ระยะ Declining มีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลงเร็วกว่าฉากทัศน์ที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการ ทำให้ควบคุมสถานการณ์หลังสงกรานต์ได้ดี ไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา รวมถึงความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงมีการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นในบางส่วนแล้ว อาทิ ประกาศลดระดับการเตือนภัย จากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ทั่วประเทศ และมอบหมายให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดเมืองเปิดประเทศตามมาตรการ “2U” (Universal Prevention & Universal Vaccination) และ “3 พอ” (เตียงพอ หมอพอ เวชภัณฑ์และวัคซีนพอ) โดยภาพรวมประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 134 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรกกว่า 81% เข็มที่สอง 74% เข็มกระตุ้น 38% และอยู่ระหว่างเร่งรัดการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข็มแรก 84% เข็มที่สอง 80% และเข็มกระตุ้น 42%

          สำหรับมาตรการเตรียมรับการเปิดเทอมทั่วประเทศ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้ปรับมาตรการป้องกันโรคและการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและสามารถเปิดเรียน On-site ได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ในเด็กนักเรียน ซึ่งขณะนี้เด็กอายุ 5-11 ปี ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกกว่า 54% และเข็มที่สอง 17%

          นายอนุทินกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ชื่นชมความสำเร็จในการรับมือวิกฤต “โควิด 19” ของไทย โดยระบุว่ามีปัจจัยความสำเร็จ 5 ประการ ได้แก่ ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหา, มีระบบหลักประกันสุขภาพและการดูแลปฐมภูมิที่ดี, มีความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ อสม. ที่เป็นกำลังสำคัญของสาธารณสุข, ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการโควิด 19 ซึ่งจะนำเสนอประสบการณ์ในการรับมือโควิด 19 ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกให้ประเทศสมาชิกได้เรียนรู้ต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบการพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะเรือ และการออกเอกสารรับรอง Ship Sanitation Certificate : SSC ภายหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้น และการเดินทางระหว่างประเทศทางเรือกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมที่มีชาวต่างชาติมาเยือนทางเรือ การตรวจสุขาภิบาลเรือและออกเอกสารรับรองสุขาภิบาลจึงมีความสำคัญ ภายใต้มาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทางน้ำ (ท่าเรือ) กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกพาณิชน์นาวี กระทรวงคมนาคม และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมเรื่องการตรวจสุขาภิบาลเรือ และการออกใบรับรองสุขาภิบาลเรือที่จะจัดในระหว่างวันที่ 9 -13 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต โดยความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทางน้ำ ให้มีศักยภาพประเมินความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขและสุขาภิบาลในเรือ ให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

           นอกจากนี้ มีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1) ยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 - 2573 และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 – 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างและพัฒนารูปแบบ การดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้ได้ภายในพ.ศ. 2573 และ 2) โครงการป้องกันและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางแสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปี 2565

 ******************************************  11 พฤษภาคม 2565

**************************************

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 4885 view
วันที่ประกาศข่าว : 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 13:22 น.