ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

สธ.-คค. จับมือ ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดกลางบางซื่อ ใหญ่ที่สุดในประเทศ สำหรับจัดฉีดในรูปแบบองค์กร เปิด 7 มิ.ย.นี้


 

          กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงคมนาคม ติดตามความพร้อมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดกลางบางซื่อ ใหญ่ที่สุดในประเทศ สำหรับบริการประชาชนรูปแบบองค์กร รองรับได้สูงสุด 10,000 คน ต่อวัน ระยะแรกเปิดบริการ หน่วยงานที่ดูแลประชาชน ระบบบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อเป็น “สถานีเพื่อความสุขและความปลอดภัย” เปิดเป็นทางการ 7 มิถุนายน นี้

          วันนี้ (21 พฤษภาคม 2564) ที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อ กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมติดตามความพร้อมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดกลางบางซื่อ โดยนายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม เปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อบริการประชาชนในรูปแบบองค์กรโดยเริ่มจากกลุ่มบุคลากรด้านการคมนาคมขนส่งสาธารณะ ที่มีอยู่กว่า 300,000 คน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จากการให้บริการ พบปะคนจำนวนมาก จากนั้นจะให้หน่วยงานราชการ และองค์กรต่างๆ ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในลักษณะกลุ่มซึ่งมีการประสานล่วงหน้าต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อ จากกระทรวงคมนาคม เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ “สถานีเพื่อความสุขและความปลอดภัย” เข้ารับบริการได้อย่างสะดวกสบาย รวมทั้งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ถือเป็น Model หนึ่งที่จัดระบบบริการวัคซีนมีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการได้มากที่สุด 10,000 คนต่อวัน อัตราการฉีดได้ 900 คน ต่อชั่วโมง ใช้ระยะเวลาประมาณ 45 นาทีต่อคน โดยจะเริ่มมีการทดลองระบบในวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และเปิดจะให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที 7 มิถุนายน 2564

          นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ดำเนินการโดยสถาบันโรคผิวหนัง และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รวมถึงมี
ครูพยาบาล นักเรียนพยาบาล จากสถาบันพระบรมราชชนก และสภาการพยาบาล ร่วมบริการในจุดฉีดยาลำหรับองค์กรอื่นๆ ที่ได้ยื่นขอการฉีดวัคซีนในรูปแบบองค์กรมาที่กระทรวงสาธารณสุขนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะรวบรวมมาให้บริการ ณ จุดนี้ ในส่วนของประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถเข้ารับบริการยังศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดกลางบางซื่อได้ ซึ่งต้องรอการพิจารณาและประกาศในระยะต่อๆ ไป

          “กลุ่มผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ หน่วยงานที่ต้องให้บริการประชาชนถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่และรับเชื้อโควิด 19 สูง เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ตนเองจะมีความปลอดภัยและผู้โดยสารและผู้ที่รับบริการก็จะมีความปลอดภัยตามมา” นายอนุทินกล่าว

          ทั้งนี้ การขอเข้ารับบริการได้จัดเตรียมไว้ 3 ระบบ ได้แก่ การลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม”, รูปแบบองค์กร และระบบออนไซด์ มีจุดให้บริการ 4 จุด ได้แก่ จุดคัดกรอง ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต, จุดลงทะเบียน 250-300 โต๊ะ , จุดฉีดยา 100 โต๊ะ และจุดพักรอเฝ้าระวังอาการ 30 นาที รองรับได้ 800 คน รูปแบบการรับบริการเป็นแบบ One Way เข้าออกทางเดียว พร้อมแบ่งโซนรับ เป็น 4 โซน เช่นกัน ได้แก่ โซน A เป็นกลุ่มองค์กร, B ออนไซด์, C และ D สำหรับผู้ที่นัดหมายมาแล้ว  รวมถึงมีจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ยา ผู้ป่วยรถเข็น เป็นต้นโดยเป็นรูปแบบ One Stop Service ในจุดเดียว รองรับได้ 30 คน ต่อชั่วโมง พร้อมจุด Emergency Point 2 จุด เพื่อปฐมพยาบาลผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ได้รับสนับสนุนรถพยาบาลจาก บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน และโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร รับส่งต่อโรงพยาบาลหากเกิดกรณีฉุกเฉิน 

*********************************** 21 พฤษภาคม 2564

อัลบั้มภาพ


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 2862 view
วันที่ประกาศข่าว : 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 14:52 น.