ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

สธ.เร่งคัดกรองโควิดเชิงรุก 1 หมื่นรายใน 7 ชุมชน และแรงงานต่างด้าว


          กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ติดเชื้อโควิด 19 กรณีสมุทรสาคร รวม 689 ราย จุดตั้งต้นอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง พบที่นครปฐม 2 ราย กทม. 2 ราย และสมุทรปราการ 3 ราย ควบคุมติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงได้ เร่งคัดกรองเชิงรุก  ใน 7 ชุมชนอีก 1 หมื่นราย รวมถึงชุมชนแรงงานต่างด้าวจังหวัดต่างๆ พร้อมให้ทุกจังหวัดตั้งศูนย์ EOC ร่วมเฝ้าระวัง หากผู้ติดเชื้อสมุทรสาครไม่เพิ่มขึ้นมาก คาดควบคุมโรคได้ใน 2-4 สัปดาห์ แนะประชาชนกลับมาจากตลาดกลางกุ้ง รายงานตัวเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประเมินความเสี่ยง รับคำแนะนำ

          บ่ายวันนี้ (20 ธันวาคม 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 5 แถลงข่าวความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด 19 จ.สมุทรสาคร

          นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด 19 จ.สมุทรสาคร เริ่มต้นจากวันที่ 17 ธันวาคม 2563 พบการติดเชื้อของผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 67 ปี ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ จึงไม่ได้เป็นผู้นำเชื้อหรือต้นเชื้อคนแรก ทีมสอบสวนโรคได้ค้นหาสาเหตุของการติดเชื้อ และสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับแรงงานเมียนมา ซึ่งตลาดกลางกุ้งมีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก เมื่อทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่พบว่า มีการติดเชื้อจำนวนมาก ร้อยละ 90 เป็นแรงงานเมียนมา ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เนื่องจากมีการพักอาศัยในพื้นที่แออัดและอยู่ใกล้ชิดกันจากชีวิตประจำวัน

          นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ควบคุมโรคให้อยู่ใน จ.สมุทรสาคร โดยล็อกดาวน์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง คือ บริเวณตลาดกลางกุ้งและแหล่งระบาด ส่วนพื้นที่อื่นภายใน จ.สมุทรสาคร ก็ควบคุมไม่ให้แรงงานต่างด้าวเข้าออกพื้นที่ ทำให้การแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่จำกัด ส่วนผู้ที่มาซื้อขายในตลาดดังกล่าวแล้วออกไปสู่จังหวัดอื่นสามารถติดตามทุกราย ขณะนี้บางจังหวัดพบผู้ป่วยประมาณ 1-2 ราย แต่การควบคุมตรวจจับได้รวดเร็ว ทำให้สามารถสอบสวนโรคค้นหาผู้สัมผัสและควบคุมเฝ้าระวังอาการได้ หากพ้นระยะเฝ้าระวังก็จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อของจ.สมุทรสาคร อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง แต่หากภายใน    1 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มนิ่ง คาดว่าจะสามารถควบคุมได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามมาตรการสำคัญที่ประชาชนต้องร่วมมือกัน คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ไม่เข้าสถานที่แออัด หากมีอาการทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้สวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์

          สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข จะมีการค้นหา ตีวง เฝ้าระวัง สื่อสาร และสร้างความร่วมมือ โดย 1. ค้นหากลุ่มเสี่ยงทั้งหมดโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว จ.สมุทรสาคร และชุมชนแรงงานต่างด้าวจังหวัดอื่น เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น ส่วนประชาชน จ.สมุทรสาคร และคนที่ออกมาจาก จ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ให้สังเกตอาการตนเอง หากสงสัยให้ไปรับการตรวจสถานพยาบาลใกล้บ้าน 2.เฝ้าระวังตรวจสอบผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจและปอดอักเสบทุกราย 3. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมรับการระบาด ขณะนี้มียาและเวชภัณฑ์เพียงพอ โดยมียาฟาวิพิราเวียร์ 552,811 เม็ด รักษาได้ประมาณ 8 พันราย หน้ากากอนามัย 46 ล้านชิ้น ใช้ได้ 3-4 เดือน ผลิตได้วันละ 4 ล้านชิ้น หน้ากาก N 95 2.9 ล้านชิ้น ชุด PPE 2 ล้านกว่าชุด ผลิตเพิ่มได้วันละ 6 หมื่นชุด 4.จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทุกจังหวัดหรือโทร.ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 5. กำหนดผู้รับผิดชอบของทุกจังหวัด และตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) เพื่อดูแลการระบาด และ 6.ตรวจสอบ ยกระดับการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลทุกแห่ง สำหรับเทศกาลปีใหม่จะจัดงานได้หรือไม่นั้น จะมีการประเมินสถานการณ์ภายใน 1 สัปดาห์

          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 กรณี จ.สมุทรสาคร จุดตั้งต้นอยู่ที่ตลาดกุ้ง และมีผู้ป่วยขยายวงใน จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่น คือ นครปฐม 2 ราย กทม. 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับตลาดกุ้งทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ป่วยสะสมขณะนี้อยู่ที่ 689 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่มาตรวจในโรงพยาบาลและค้นหาผู้สัมผัส 32 ราย และการค้นหาในชุมชน 657 ราย จากการส่งตรวจทั้งหมด 1,443 ราย ส่วนใหญ่อยู่ที่ตลาดกลางกุ้งและหอพัก ขณะนี้ปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าออกแล้ว ซึ่งตรวจไปแล้ว 2 พันกว่าราย และกำลังตรวจเพิ่มอีก 2 พันราย

          ทั้งนี้ การสอบสวนโรคผู้ป่วยหญิงอายุ 33 ปี เขตคลองสามวา กทม. พบว่า วันที่ 12 ธันวาคม มีประวัติไปรับซื้ออาหารทะเลที่ตลาดกลางกุ้งมาขายที่ตลาดนวลจันทร์ เวลา 16.00 - 20.00 น. โดยซื้อกุ้งกับผู้ป่วยหญิงอายุ 67 ปี วันที่ 14 ธันวาคม เริ่มมีอาการจาม น้ำมูก ไม่ได้ไปขายของที่ตลาด วันที่ 16-17 ธันวาคม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น วันที่ 18 ธันวาคม ไปตรวจที่โรงพยาบาลสินแพทย์ ผลพบเชื้อ วันที่ 19 ธันวาคม เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ คัดกรองผู้สัมผัสในครอบครัวพบ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย

          สำหรับผู้ที่เคยไปยังพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง ขอแนะนำให้มาพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อประเมินความเสี่ยง และรับคำแนะนำ จะกักตัวเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือ ถูกผู้ติดเชื้อไอจามรด พูดคุยกับผู้ติดเชื้อระยะห่างไม่เกิน 1 เมตรนานเกิน 5 นาที โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ใส่หน้ากาก หากไม่ได้เป็นสัมผัสเสี่ยงสูงจะแนะนำให้สังเกตอาการ หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ก็ให้มาตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนกรณีอาหารทะเลยืนยันว่ารับประทานได้ โดยเน้นสุกร้อน ส่วนที่ต่างประเทศเคยตรวจพบเชื้อโควิดในปลาแซลมอนหรืออาหารทะเลบางประเภท เป็นการพบสารพันธุกรรมในอาหาร แปลว่ามีการปนเปื้อน ไม่ได้แปลว่าเชื้อบนอาหารจะสามารถถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจะทำให้ติดเชื้อและถ่ายทอดเชื้อได้

          นายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 5 ได้ตั้ง EOC ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด และมีการระดมบุคลากรจาก 8 จังหวัดมาสนับสนุน จ.สมุทรสาครในการตรวจคัดกรองเชิงรุก ตั้งเป้าหมาย 10,000 ราย ใน 7 ชุมชนภายใน 3 วัน  โดยมีรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน 7 คัน นอกจากนี้ ได้สำรองเตียงพร้อมรับผู้ป่วย 1,083 เตียง ระบบส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีกรมการแพทย์เป็นศูนย์บริหารจัดการเตียง ร่วมกับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครและเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจะจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในหอพัก พร้อมจัดหน่วยปฐมพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลใกล้ชิด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม แจกหน้ากากอนามัย หากมีอาการป่วยจะส่งต่อรับการรักษาในโรงพยาบาลตามระบบ และมีสถานกักกันโรค (Local Quarantine) รับได้ 600 คน และประสานหน่วยงานอื่น ๆ เตรียมสถานที่เพิ่มมีหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ป้องกัน และยารักษาโรค พร้อมใช้ได้ 3- 4 เดือน

 *********************************  20 ธันวาคม 2563

****************************


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 8973 view
วันที่ประกาศข่าว : 20 ธันวาคม 2563 เวลา 18:39 น.