ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

WHO ชื่นชมไทยมี 6 จุดเด่นหลักช่วยจัดการโควิด 19 ได้ดี แนะพัฒนาเพิ่มเพื่อรับระลอกสอง


      กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการถอดบทเรียนจากคณะประเมินการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย พบ 6 จุดเด่นหลักที่ทำให้ควบคุมเเละจัดการได้อย่างดี เเนะให้ไทยพัฒนาการบูรณาการฐานข้อมูล และการขยายการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ทีมสอบสวนโรค รองรับการระบาดระลอกสองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

         วันนี้ (14 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์ริชาร์ด บราวน์ ผู้จัดการโครงการด้านภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินและการดื้อยาต้านจุลชีพ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวการถอดบทเรียนร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย (Ministry of Public Health and WHO Joint Intra-Action Review of Public Health Response to COVID-19 in Thailand)

         นายอนุทินกล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศแรกๆของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนนี้ ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากคณะประเมินว่าสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี โดยปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ภาวะผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งมีการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการที่ดีที่สุด, ระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของประเทศ มีทรัพยากรพร้อมและทุกคนเข้าถึงได้ รวมถึงการบริหารจัดการผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตลอดจนศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และทีมสอบสวนโรคของทุกพื้นที่มีความพร้อมในการสอบสวนโรคจำนวนกว่า 1,000 ทีม ทำให้การติดตามกักตัวผู้สัมผัสมีความเข้มแข็ง, ประสบการณ์ที่ผ่านมากับการรับมือกับโรคระบาดในอดีต อาทิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009, วัฒนธรรมการทักทายแบบไม่สัมผัสกันและสวมหน้ากากเป็นประจำ การสื่อสารสม่ำเสมอ โปร่งใส นำไปสู่ความร่วมมือของภาคประชาชน, การดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ

     นายอนุทินกล่าวต่อว่า การสรุปบทเรียนการปฏิบัติการควบคุมโควิด 19 ครั้งนี้ ทีมถอดบทเรียนได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงระบบการจัดเก็บและบูรณาการฐานข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโควิด 19 การขยายศักยภาพของระบบเฝ้าระวังเพื่อการค้นหาผู้ป่วยให้ได้อย่างรวดเร็ว การจัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศที่มีอำนาจในการกักกันโรค เพื่ออำนวยการ ประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นไปได้สะดวกขึ้น การป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย การเสริมกำลังคน และการเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน โดยกระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นพัฒนาการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปฏิบัติจริงได้อย่างรวดเร็ว มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ทุกรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ

       “ขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการพื้นฐานต่างๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขแนะนำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ การรักษาระยะห่าง การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือสถานที่ปิดหากเป็นไปได้ การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่เข้าใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ” นายอนุทินกล่าว

       นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอแนะจาก และการเสริมสร้างและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ การนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปรับใช้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้การรับมือกับสถานการณ์การระบาดในระลอกต่อไปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีก ขณะที่เจตจำนงของการถอดบทเรียนครั้งนี้ ดำเนินการเพื่อพัฒนาการรับมือของประเทศไทย ประเทศอื่นๆ อาจพบว่ามีข้อค้นพบที่เป็นประโยชน์ในการสนับสนุนความพยายามในการควบคุมการระบาดของแต่ละประเทศได้

      ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้ – เอเชียตะวันออก กล่าวว่า  การถอดบทเรียนไม่เพียงแต่สำคัญสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกขององค์การอนามัยโลกอีกด้วย เพราะขณะนี้ทั่วโลกต่างกำลังเรียนรู้ไปพร้อมกันในเรื่องของการรับมือกับโรคระบาด 

     ทั้งนี้ การถอดบทเรียนครั้งนี้ เป็นการศึกษาทบทวนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ของประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกตามคู่มือขององค์การอนามัยโลก ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 โดยทีมผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญในหลายสาขา จากองค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ จากภาครัฐเเละเอกชน จำนวน 96 คน และจัดทำเป็นรายงานข้อเสนอแนะในการพัฒนาการตอบสนองต่อสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศไทยในอนาคต โดยสามารถดาวน์โหลดรายงานภาษาไทยได้ที่ https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/iar-covid19-th.pdf และภาษาอังกฤษที่ https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/iar-covid19-en.pdf

     สำหรับการประเมินแบ่งเป็น 9 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การประสานงานการวางแผน การติดตามเเละประเมินผลในระดับประเทศ 2.การสื่อสารความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชน 3.การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค และการติดตามผู้สัมผัส 4.ช่องทางเข้าออกประเทศ สุขภาพแรงงานต่างด้าว  5.ระบบห้องปฏิบัติการแห่งชาติ 6.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ 7.การจัดการผู้ป่วย และการแบ่งปันความรู้ นวัตกรรมและการวิจัย 8.การสนับสนุนการ ปฏิบัติงานและการขนส่งในห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการกำลังคน และ9.การบำรุงรักษาด้านบริการ สุขภาพที่จำเป็นต่างๆ (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 โดยตรง) ระหว่างการระบาดของโรคโควิด 19

   ******************************* 14 ตุลาคม 2563

******************************* 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 2082 view
วันที่ประกาศข่าว : 14 ตุลาคม 2563 เวลา 15:48 น.