ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

สธ.-รพ.รามาธิบดี-สปสช. เริ่มให้ยาเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่บ้าน


    กระทรวงสาธารณสุข  โดยกรมการแพทย์ ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ยาเคมีบำบัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรงที่บ้าน ได้รับยาตรงเวลา ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ผลการรักษาดีนำร่องปีนี้ 7 แห่ง เตรียมเปิดทุกเขตสุขภาพ 30 แห่งในปี 2565

      วันนี้ (9 กรกฎาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายแพทย์พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ อาจารย์สาขามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวการดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ให้เคมีบำบัดที่บ้าน

       ดร.สาธิต กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลได้ให้การดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แล้ว ยังให้ความสำคัญกับโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคมะเร็งซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของประชาชน โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 140,000 คน ผู้เสียชีวิต 73,000 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 13,000 ราย เสียชีวิต 5,000 ราย พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สำหรับการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดีกรมการแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พัฒนาบริการรูปแบบใหม่ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล สามารถรับยาได้ตรงตามนัดทุกครั้ง ผลการรักษาดีขึ้นเป็นการแพทย์วิถีใหม่ : The New Normal Medical Service ส่งเสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อเทียบกับคนทั่วไป รวมทั้งเกิดความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ นำร่องตั้งแต่ 1 กรกฎาคมปีนี้ 7 แห่งที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติรพ.มะเร็งลพบุรี รพ.มะเร็งชลบุรี รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.จุฬาภรณ์ และรพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ตั้งเป้า 30 โรงพยาบาลครบทุกเขตสุขภาพในปี 2565 และสนับสนุนงบประมาณปี 2563 จำนวน 4,700 ล้านบาท ให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วยมะเร็งครบวงจร

      ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 จำนวนกว่า 1,500,000 ราย ค้นพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้นกว่า 500 ราย ช่วยทำให้ผู้ป่วยรักษาหายขาดได้ แต่ยังพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแพร่กระจายแล้ว ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ อาจทำให้ได้รับยาเคมีบำบัดไม่ครบถ้วนตามรอบการให้ยา และขาดความต่อเนื่อง แก้ไขโดยการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน ซึ่งมีผลลัพธ์ทางสุขภาพร่างกายและจิตใจดีกว่า อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ จะมีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจ เข้าร่วมโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้

      นายแพทย์พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาบริการให้เคมีบำบัดที่บ้าน ต้องเป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 3 - 4 ได้รับการตรวจโดยแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดเล็กเพื่อใส่สายบริหารยาทางหลอดเลือดดำกลางก่อนเริ่มให้ยาเคมีบำบัด 2 สัปดาห์ โดยแพทย์จะให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ การดูแลตนเอง รวมถึงช่องทางการติดต่อกับโรงพยาบาล และมีพยาบาลโทรติดตามอาการแบบเชิงรุก/ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย หากให้ยาครบแล้ว สามารถถอดอุปกรณ์โดยพยาบาลเยี่ยมบ้าน หรือไปโรงพยาบาล /โรงพยาบาลเครือข่าย ทั้งนี้เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและได้รับยาตรงเวลา 100 เปอร์เซ็นต์ ลดค่าใช้จ่าย ลดความแออัด โดยในปี 2562 มีผู้เข้ารับการบำบัดและให้ยาจำนวน 1,774 ครั้ง ลดการใช้เตียงมากกว่า 3,500 ต่อวันนอน

 

 

   

 ************************** 9 กรกฎาคม 2563


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 1475 view
วันที่ประกาศข่าว : 9 กรกฎาคม 2563 เวลา 15:24 น.