ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

สธ.– ภาคีเครือข่ายส่งต่อความรู้การควบคุมยาสูบ ตั้งเป้าลดการสูบร้อยละ 30 เน้นกลุ่มเยาวชน


           กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาเครือข่ายนักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบ และบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ นักวิชาการ นักเรียนนักศึกษา ที่เป็นผู้ใช้ข้อมูลความรู้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าลดอัตราการบริโภคยาสูบลงอย่างน้อยร้อยละ 30 สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

            วันนี้ (20 มิถุนายน 2562) ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 เรื่อง “Tobacco and Lung Health”  จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ และภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อคนไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การดำเนินงาน และพัฒนาเครือข่ายนักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบและผู้ใช้ข้อมูลความรู้ ได้แก่ บุคลากรวิชาชีพสุขภาพ นักวิชาการ นักเรียนนักศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน

           นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดอัตราการบริโภคยาสูบลงอย่างน้อยร้อยละ 30 ในปี 2568 ตามเป้าหมายการลดการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (The 9 global targets for NCD : 2025) และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า (2559-2573) ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) นำไปสู่การปฏิบัติตามเป้าหมายสูงสุด 3 ประการ คือ การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ การลดปริมาณการสูบบุหรี่ต่อคน และการทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการควบคุมยาสูบของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สอง พ.ศ. 2559 - 2562 เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ เน้นในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากมีเยาวชนไทยประมาณ 2 ถึง 3 แสนคน เป็นผู้ติดบุหรี่หน้าใหม่ ทดแทนผู้สูบบุหรี่แล้วเสียชีวิตหรือเลิกสูบไป ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้มีผู้เจ็บป่วยผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และกระทบภาคเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น

            “สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารงานวิจัยด้านการควบคุมยาสูบ การประเมินผล และการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการควบคุมยาสูบ รวมถึงการสร้างและพัฒนานักวิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราการสูบบุหรี่และสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สามารถป้องกันได้” นายแพทย์สุขุมกล่าว

           ทั้งนี้ สาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนกว่า 400,000 รายต่อปี มาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี พ.ศ. 2560 พบประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ร้อยละ 19.1 จากจำนวนผู้สูบสูงถึง 10.7 ล้านคน และอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชน ในช่วงปี 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

  **************************    20 มิถุนายน 2562

**********************************

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 1348 view
วันที่ประกาศข่าว : 20 มิถุนายน 2562 เวลา 11:03 น.