ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

สธ.และทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์“ถึงเวลายุติปัญหาวัณโรค”ในวันวัณโรคสากล


       กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับทุกภาคส่วน รณรงค์ “ถึงเวลา ยุติปัญหาวัณโรค” เนื่องในวันวัณโรคสากลปี 2562 เร่งรัดคัดกรองวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง ค้นหาวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ นำเข้าสู่ระบบการรักษาลดการแพร่เชื้อ ลดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา

        วันนี้ (15 มีนาคม 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลอากาศโท นพ.มานพ จิตต์จรัส  รองประธานกรรมการกลางสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และDr.Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในวันวัณโรคสากล ปี 2562

        ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า วันวัณโรคสากล (World TB Day) ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ในปีนี้ องค์กรต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ ได้กำหนดข้อความสื่อไปถึงทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ในทิศทางเดียวกัน คือ “IT’S TIME TO ZERO TB” หรือ “ถึงเวลา ยุติปัญหาวัณโรค” มีความหมายว่า “ถึงเวลาที่พวกเราทุกคน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันปฏิบัติกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ”ตามเป้าหมายแผนปฏิบัติการระดับชาติ นำไปสู่ TB-Free Thailand For TB-Free World “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค” มีเป้าหมายการลดอุบัติการณ์วัณโรคลงอย่างน้อยร้อยละ 12.5 ต่อปี เหลือ 88 ต่อแสนประชากร เมื่อสิ้นปี 2564 และบรรลุเป้าหมายยุติปัญหาวัณโรคเหลือ 10 ต่อแสนประชากร เมื่อสิ้นปี 2578

         ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า แม้ว่าประเทศไทยมีอัตราความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่มากกว่าร้อยละ 85 สามารถลดอัตราอุบัติการณ์ของผู้ป่วยวัณโรคจาก 172 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 ลดลงเหลือ 156 ต่อแสนประชากร ในปี 2560 แต่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 108,000 รายต่อปี  และเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปีที่สำคัญวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่คาดว่าอาจมีมากถึง 3,900 ราย ค่าใช้จ่ายในการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 1.2 แสนบาทต่อราย และถ้าเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.2 ล้านบาทต่อราย

        ความสำเร็จในการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ใช้ 4 แนวทาง คือ 1.“นโยบายเข้มแข็ง” ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาวัณโรคเป็นนโยบายทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ  ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้วัณโรค เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 และคณะรัฐมนตรีได้รับรองแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ.2560-2564 2.“เสริมแรงด้วยความรู้” โดย 16 องค์กรเครือข่ายตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย และการจัดตั้งเครือข่ายการวิจัยด้านวัณโรค หรือ Thai TuRN (Thai Tuberculosis Network)  3.“รวมหมู่เป็นเจ้าของ” ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ป้องกันควบคุมและดูแลรักษาในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ดำเนินงานวัณโรคในสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม ประกาศเจตนารมณ์ “ยุติวัณโรคในเรือนจำ” เร่งรัดคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำ 4.“ต้องก้าวต่อเนื่อง คัดกรองค้นหาในกลุ่มเสี่ยง กำกับดูแล และระบบส่งต่อ นำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา ค้นพบและขึ้นทะเบียนรักษาผู้ป่วยรายใหม่และกลับเป็นซ้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้ง คัดกรองวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง ในปี 2560-2561 ได้ประมาณ 5 ล้านคน พบเป็นวัณโรค 22,784 ราย พัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลการบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรครายบุคคลเป็นโปรแกรมการบริหารจัดการข้อมูลวัณโรคแห่งชาติ (NTIP)                                                    

       ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานป้องกัน ดูแล รักษา และควบคุมวัณโรคเพื่อลดอัตราป่วยและอัตราตาย โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะกำหนดเป็นนโยบายเร่งรัดคัดกรอง ค้นหา ตรวจและรักษาผู้ป่วยวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ผู้สูงอายุมีโรคร่วม แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ครอบคลุม การตรวจรักษาวัณโรคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จัดหาเทคโนโลยีใหม่และได้ผลเร็วมาใช้ในการคัดกรองและวินิจฉัยวัณโรค เร่งรัดค้นหาและวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาในกลุ่มเสี่ยงโดยส่งตรวจทดสอบความไวต่อยาทุกราย จัดหายาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการบริหารจัดการรักษาวัณโรคดื้อยา และกำหนดมาตรการและดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ติดเชื้อและมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคสูง คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ต้องขัง และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมให้ยารักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง

       สำหรับกิจกรรมรณรงค์ในปีนี้ ประกอบด้วย 1.กิจกรรมเดินวิ่งการกุศล Charity TB Run 2019 Mini Marathon ที่กระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 17 มีนาคม 2562 โดยร่วมกับมูลนิธิศุภมิตแห่งประเทศไทยและองค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรค 2.การประชุมวิชาการและนิทรรศการวันวัณโรคสากล วันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ3.การจัดกิจกรรมวันวัณโรคสากล ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กทม. โดยร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และองค์กรภาคีเครือข่าย

   *******************************  15 มีนาคม 2562

******************************** 15 มีนาคม 2562

 

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 1604 view
วันที่ประกาศข่าว : 15 มีนาคม 2562 เวลา 14:41 น.