ข่าวรอบรั้ว ภูมิภาค

พิมพ์

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในร้อยเอ็ดเพิ่มสูงขึ้น แนะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง


นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 24 พฤษภาคม ๒๕๖๓ จังหวัดร้อยเอ็ด มีรายงานผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 403 ราย  คิดเป็นอัตราป่วย 30.80  ต่อประชากรแสนคน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบการเกิดโรคใน 20 อำเภอ 103 ตำบล 217 หมู่บ้านร้อยเอ็ดมียอดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมอยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศ และลำดับ 5 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดร้อยเอ็ด มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 153 ราย อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พนมไพร ธวัชบุรี เมืองร้อยเอ็ด โพธิ์ชัย และ โพนทอง กลุ่มเด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 5-14 ปี มีอัตราป่วยสูงถึง 120.23 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุด เพียง 5 เดือน และ ผู้ป่วยอายุมากที่สุด  69 ปี

อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ใบหน้าหรือผิวหนังแดง อาเจียน ปวดท้อง ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น และอาจเกิดอาการช็อกทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้หากในบ้านหรือบริเวณใกล้เคียงบ้านมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก แนะนำให้ใช้สารเคมีพ่นกำจัดยุง  ชนิดสเปรย์กระป๋อง เพื่อความรวดเร็วในการควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก เนื่องจากราคาไม่แพง หาซื้อง่าย ใช้งานสะดวก และส่วนใหญ่มีใช้ในครัวเรือนอยู่แล้ว ผู้ที่ฉีดพ่นควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดก่อนฉีดพ่น หลังจากฉีดพ่นแล้วให้ทิ้งไว้ ๑๐-๑๕ นาที แล้วจึงเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศออก หลังการฉีดพ่นทุกครั้งควรล้างมือ และฟอกสบู่          เก็บกระป๋องสเปรย์ให้มิดชิด ห่างไกลจากมือเด็กหรือเปลวไฟหรือที่ที่มีความร้อน และห้ามนำกระป๋องไปเผาเพราะจะเกิดการระเบิดได้ ขอให้แยกทิ้งเป็นขยะอันตราย

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้ มาตรการ  “๓ เก็บ ป้องกัน ๓ โรค” ได้แก่  ๑. เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก  ๒. เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ ๓.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง  เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด

25 พฤษภาคม 2563

 

ทองสุข โพนเงิน/ข่าว

กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ/แหล่งข่าว


จากหน่วยงาน : สสจ.ร้อยเอ็ด เปิดดู 719 view
วันที่ประกาศข่าว : 25 พฤษภาคม 2563 เวลา 13:49 น.