ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมควบคุมโรค ร่วมกับมูลนิธิสุชาติ เจตนเสน จัดสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 24


          

          กรมควบคุมโรค โดยกองระบาดวิทยา ร่วมกับมูลนิธิสุชาติ เจตนเสน จัดสัมมนางานด้านระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 24 โดยมีเครือข่ายระบาดวิทยาทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 500 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานตลอด 50 ปีที่ผ่านมาของงานระบาดวิทยาในประเทศไทย เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพงานระบาดวิทยาและนักระบาดวิทยาภาคสนาม เตรียมพร้อมรับและตอบโต้โรคและภัยสุขภาพในอนาคต

          วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2565) ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาฯ กล่าวว่า งานสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 24 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ระบาดวิทยากึ่งศตวรรษ เร่งรัดปฏิรูป (Golden Jubilee Epidemiology Reforms)” ยกประเด็นการทำงานด้านสาธารณสุขในแง่มุมต่างๆ รวมถึงการตอบโต้การควบคุมโรคในช่วงโรคโควิด 19 ระบาด มาเป็นประเด็นหลักที่ใช้สื่อสารกับเครือข่ายระบาดวิทยาทั่วประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน ผ่านเวทีการเสวนา และเวทีเวิร์คช็อป

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า หากพูดถึงงานระบาดวิทยา ประชาชนอาจไม่เข้าใจว่าคืองานอะไร แต่แท้จริงแล้วงานระบาดวิทยา ถือเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมป้องกันโรคและภัยสุขภาพต่างๆ การพัฒนาศักยภาพนักระบาดวิทยาภาคสนามของประเทศไทยจึงมีความสำคัญต่อระบบการเฝ้าระวัง การสอบสวนทางระบาดวิทยา รวมถึงการควบคุมโรค ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไปทั่วโลก จึงเป็นตัวช่วยขยายให้เห็นถึงกระบวนการทำงานด้านระบาดวิทยาได้อย่างชัดเจน โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาของการระบาด ส่งผลให้ศาสตร์ด้านระบาดวิทยาถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ได้เห็นแนวทางการควบคุมโรคในประเทศต่างๆทั่วโลก งานสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติฯ จึงเป็นเวทีในสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานอย่างหนักของเครือข่ายด้านระบาดวิทยาและสาธารณสุข ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์จริง พร้อมทั้งประชุมหารือเพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักระบาดวิทยาต่อไปในอนาคต

          ขณะที่ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2565 นี้ ถือเป็นปีที่กองระบาดวิทยาก่อตั้งมาครบรอบ 50 ปี จากจุดกำเนิดการสร้างระบบการรายงานสถานการณ์โรค จากการรวบรวมข้อมูลจำนวนอัตราการเจ็บป่วยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรูปแบบการรายงานสถานการณ์โรคดังกล่าว    เริ่มตั้งแต่การเขียนรายงานลงในกระดาษ และพัฒนามาเป็นการจัดการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อพัฒนาระบบการรายงานโรคให้รวดเร็วเท่าทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในด้านการสอบสวนโรคได้เปลี่ยนแปลงจากการเคาะประตูบ้านทีละหลัง เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายระบาดวิทยาในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมถึงการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์

 

********************************

ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565


จากหน่วยงาน : กรมควบคุมโรค เปิดดู 659 view
วันที่ประกาศข่าว : 24 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14:57 น.