ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

สธ. คุมเข้มเทศกาลกินเจ เน้นอาหารสะอาด ปลอดภัย แนะ ‘ลด - เลี่ยง – แป้ง – มัน’ เพื่อสุขภาพ


             วันนี้ (28 กันยายน 2565) นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเสริมพลังและรณรงค์ “กินเจ อิ่มบุญ อิ่มใจ ปลอดภัย สุขภาพดี” ณ วงเวียนโอเดียน (ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ) และบริเวณถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
       นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทศกาลกินเจปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงให้ความสำคัญต่อมาตรการด้านอาหารปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้กินอาหารที่สะอาด และได้คุณค่าทางโภชนาการ โดยเน้นย้ำมาตรฐานการปรุงประกอบอาหาร ตั้งแต่ขั้นตอนการล้างผักที่จะมาทำเมนูเจ เพื่อลดการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง เพราะจากข้อมูลของสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) ที่สุ่มตรวจตัวอย่างผัก ผลไม้ โดย Mobile Unit ทั่วประเทศในตลาด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 7 กันยายน 2565) จำนวน 2,071 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง จำนวน 29 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 1.40 ตัวอย่างที่พบ เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาว คะน้า ถั่วฝักยาว ส้ม ดังนั้น ก่อนกิน หรือก่อนนำผักและผลไม้มาปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งด้วย 3 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1) ล้างด้วยน้ำไหล สามารถลดสารพิษได้ ร้อยละ 25-65 วิธีที่ 2) ล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดาช่วยลดสารพิษได้ ร้อยละ 90-95 และ วิธีที่ 3) ล้างด้วยน้ำส้มสายชู ช่วยลดสารพิษได้ ร้อยละ 60-84 จะช่วยให้ผักและผลไม้คงความสด และยังสามารถล้างไข่พยาธิได้
           “สำหรับการเลือกซื้ออาหารเจทั้งแบบสำเร็จรูป อาหารคาว หวาน อาหารถุง และอาหารกระป๋อง ก่อนซื้อควรคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ราคา ความสะอาด ความปลอดภัย หากปรุงอาหารกินเอง อาจเลือกทำเมนูง่าย ๆ ที่ได้คุณค่าทางโภชนาการ เช่น ลาบเห็ดเจ ที่ให้พลังงานเพียง 121 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 5.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 23.1 กรัม ไขมัน 0.9 กรัม ใยอาหาร 1.5 กรัม โซเดียม 585.3 มิลลิกรัม วิตามินซี 2.03 มิลลิกรัม และเห็ดยังมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัยต้านมะเร็ง ถือเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพอีกเมนูหนึ่ง นอกจากนี้ ขอความร่วมมือร้านค้าที่จำหน่ายอาหารเจ ลดการใช้โฟมบรรจุอาหารเปลี่ยนเป็นใช้ภาชนะจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้แทน พร้อมเน้นย้ำผู้บริโภคคุมเข้มพฤติกรรมกินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และหมั่นล้างมือ เพื่อเป็นเกราะป้องกันโรค” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
         ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยสนับสนุนให้ประชาชนได้เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยราชการ เช่น ตลาดสด น่าซื้อ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) และ อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ (Street Food Good Health) ซึ่งปัจจุบันมีตลาดสด ผ่านเกณฑ์รับรองมาตรฐาน ตลาดสดน่าซื้อ จำนวน 691 แห่ง ร้านอาหารผ่านเกณฑ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อยระดับดีมาก (Clean Food Good Taste plus) จำนวน 410 แห่ง และอาหารริมบาทวิถี ผ่านเกณฑ์ อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ (Street Food Good Health) จำนวน 165 แห่ง
           “ทั้งนี้ ขอให้เลือกซื้อวัตถุดิบสำหรับใช้ในการปรุงประกอบอาหารที่สะอาด ปลอดภัย จากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือที่กล่าวข้างต้น ปรุงอาหารลดหวาน มัน เค็ม เน้นกินอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้ง และไขมันมาก เพราะอาหารเจส่วนใหญ่ประกอบด้วยแป้ง ธัญพืช ถั่ว งา เต้าหู้ อาจทำให้ขาดโปรตีนและธาตุเหล็ก จึงควรเลือกพืชทดแทนโปรตีน ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง โปรตีนเกษตร เต้าหู้ และผักใบเขียวเข้ม ซึ่งมีธาตุเหล็กสูง การกินผักผลไม้หลายสีจะเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุตามที่ร่างกายต้องการ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว 

***

กรมอนามัย / 28 กันยายน 2565


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 375 view
วันที่ประกาศข่าว : 28 กันยายน 2565 เวลา 21:21 น.